ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์



" พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) "


๕) ทำกรรมเก่าให้เกิดประโยชน์ หน้า ๑๔-๑๘


คนไทยสมัยนี้ได้ยินคำว่า “กรรม” มักจะนึกไปในแง่ว่ากรรมจะตามมาให้เคราะห์ให้โทษอย่าไร พูดถึงกรรมก็จะนึกถึงอะไรอย่างหนึ่งที่คอยตามจะลงโทษ หรือทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยเฉพาะคิดไปถึงชาติก่อน คือมองกรรมในแง่กรรมเก่า และเป็นเรื่องไม่ดี

คำว่า “กรรมเก่า” ก็บอกอยู่ในตัวเองแล้วว่า มันถูกจำกัดให้หดแคบเข้ามาเหลือเพียงส่วนหนึ่ง เพราะเติมคำว่า “เก่า” เข้าไป กรรมก็เหลือแคบเข้ามา ยิ่งนึกในแง่ว่ากรรมไม่ดีอีก ก็ยิ่งแคบหนักเข้า รวมแล้วก็คือเป็นกรรมที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไปๆ มาๆ ก็เลยอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรม (เก่า-ที่ไม่ดี) บางทีถึงกับมีการหาทางตัดกรรม เลยพลัดออกไปจากพระพุทธศาสนา

ความจริง กรรมก็เป็นเรื่องธรรมดาธรรมชาติ คือเป็นเรื่องความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตมนุษย์ ที่มีเจตนา มีการคิด การพูด และการกระทำ แสดงออก มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลาย แล้วก็เกิดผลต่อเนื่องกันไปในความสัมพันธ์นั้น

ถ้ามัวไปยึดถือว่า แล้วแต่กรรมเก่าปางก่อนอย่างเดียว ก็จะทำกรรมใหม่ที่เป็นบาปอกุศลโดยไม่รู้ตัว

หมายความว่า ใครก็ตามที่ปลงว่า “แล้วแต่กรรม (เก่า)” นั้น ก็คือเขากำลังทำความประมาท ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ทำกรรมใหม่ที่ควรทำความประมาทนั้นก็เลยเป็นกรรมใหม่ของเขา ซึ่งเป็นผลจากโมหะ แล้วกรรมใหม่ที่ประมาทเพราะโมหะหลงงมงายนั้น ก็จะก่อผลร้ายแก่เขาต่อไป

ความเชื่อว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่กรรมเก่า กรรมปางก่อน หรือกรรมในชาติก่อน คือลักธิกรรมเก่านั้น เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่าปุพเพกตเหตุวาทหรือเรียกสั้นๆ ว่า ปุพเพกตวาท (ลัทธิกรรมเก่าคือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตามทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน) ดังพุทธพจน์ที่แสดงแล้วข้างต้น

ท่านไม่ได้สอนว่าไม่ให้เชื่อกรรมเก่า แต่ท่านสอนไม่ให้เชื่อว่าอะไรๆ จะเป็นอย่างไรก็เพราะกรรมเก่า

• การเชื่อแต่กรรมเก่า ที่สุดโต่งไปข้างหนึ่ง
• การไม่เชื่อกรรมเก่า ก็สุดโต่งไปอีกข้างหนึ่ง

ได้กล่าวแล้วว่า “กรรม” พอเติม “เก่า” เข้าไป คำเดิมที่กว้างครบถ้วนสมบูรณ์ ก็หดแคบเข้ามาเหลืออยู่ส่วนเดียว อย่ามองกรรมที่กว้างสมบูรณ์ให้เหลือส่วนเดียวแค่กรรมเก่า

เรื่องกรรมที่เชื่อกันในแง่กรรมเก่านี้ มีจุดพลาดอยู่ ๒ แง่คือ
๑. ไปจับเอาส่วนเดียวเฉพาะอดีต ทั้งที่กรรมนั้นก็เป็นกลางๆ ไม่จำกัด ถ้าแยกโดยกาลเวลาก็ต้องมี ๓ คือ กรรมเก่า (ในอดีต) กรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) กรรมข้างหน้า (ในอนาคต) ต้องมองให้ครบ
๒. มองแบบแยกขาดตัดตอน ไม่มองให้เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัยที่ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด คือ ไม่มองเป็นกระแสหรือกระบวนการที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา แต่มองเหมือนกับว่ากรรมเก่าเป็นอะไรก้อนหนึ่งที่ลอยตามเรามาจากชาติก่อน แล้วมารอทำอะไรกับเราอยู่เรื่อย ๆ

ถ้ามองกรรมให้ถูกต้องทั้ง ๓ กาล และมองอย่างเป็นกระบวนการของเหตุปัจจัย ในด้านเจตจำนง และการทำ-คิด-พูด ของมนุษย์ ที่ต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ก็จะมองเห็นกรรมถูกต้อง ชัดเจนและง่ายขึ้น ในที่นี้ แม้จะไม่อธิบายรายละเอียด แต่จะขอให้จุดสังเกตในการทำความเข้าใจ ๒-๓ อย่าง

๑. ไม่มองกรรมแบบแยกขาดตัดตอน คือ มองให้เห็นเป็นกระแสที่ต่อเนื่องตลอดมาจนถึงขณะนี้ และกำลังดำเนินสืบต่อไป
ถ้ามองกรรมให้ครบ ๓ กาล และมองเป็นกระบวนการต่อเนื่อง จากอดีต มาถึงบัดนี้ และจะสืบไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า กรรมเก่า (ส่วนอดีต) ก็ คือ เอาขณะปัจจุบันเดี๋ยวนี้เป็นจุดกำหนด นับถอยจากขณะนี้ ย้อนหลังไปนานเท่าไรก็ตาม กี่ร้อยกี่พันชาติก็ตาม มาจนถึงขณะหนึ่งหรือวินาทีหนึ่งก่อนนี้ ก็เป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) ทั้งหมด

กรรมเก่าทั้งหมดนี้ คือกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ส่วนกรรมใหม่ (ในปัจจุบัน) ก็คือที่กำลังทำๆ ซึ่งขณะต่อไปหรือวินาทีต่อไป ก็จะกลายเป็นกรรมเก่า (ส่วนอดีต) และอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมข้างหน้า ซึ่งยังไม่ถึง แต่จะทำในอนาคต

กรรมเก่านั้นยาวนานและมากนักหนา สำหรับคนสามัญ กรรมเก่าที่จะพอมองเห็นได้ ก็คือกรรมเก่าในชาตินี้ ส่วนกรรมเก่าในชาติก่อนๆ ก็อาจจะลึกล้ำเกินไป เราเป็นนักศึกษาก็ค่อยๆ เริ่มจากมองใกล้หน่อยก่อน แล้วจึงค่อยๆ ขยายไกลออกไป

อย่างเช่นเราจะวัดหรือตัดสินคนด้วยการกระทำของเขา กรรมใหม่ในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร เราก็ดูจากกรรมเก่า คือความประพฤติและการกระทำต่างๆ ของเขาย้อนหลังไปในชีวิตนี้ ตั้งแต่วินาทีนี้ไปนี่ก็กรรมเก่า ซึ่งใช้ประโยชน์ได้เลย

๒. รู้จักตัวเอง ทั้งทุนที่มีและข้อจำกัดของตน พร้อมทั้งเห็นตระหนักถึงผลสะท้อนที่ตนจะประสบ ซึ่งเกิดจากกรรมที่ตนได้ประกอบไว้
*** กรรมเก่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเราทุกคน เพราะแต่ละคนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ก็คือผลรวมของกรรมเก่าของตนที่ได้สะสมมา ด้วยการทำ-พูด-คิด การศึกษาพัฒนาตน และความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในอดีตทั้งหมดตลอดมาจนถึงขณะหรือวินาทีสุดท้ายก่อนขณะนี้

กรรมเก่านี้ให้ผลแก่เรา หรือเรารับผลของกรรมเก่านั้นเต็มที่ เพราะตัวเราที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นผลรวมที่ปรากฏของกรรมเก่าทั้งหมดที่ผ่านมากรรมเก่านั้นเท่ากับเป็นทุนเดิมของเราที่ได้สะสมไว้ ซึ่งกำหนดว่า เรามีความพร้อม มีวิสัยขีดความสามารถทางกาย วาจก ทางจิตใจ และทางปัญญาเท่าไร และเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ อะไรเหมาะกับตัวเรา เราจะทำได้แค่ไหน และควรจะทำอะไรต่อไป

ประโยชน์ที่สำคัญของกรรมเก่า ก็คือการรู้จักตัวเองดังที่ว่านั้น ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการรู้จักวิเคราะห์และตรวจสอบตนเอง โดยไม่มัวแต่ชัดทอดปัจจัยภายนอก

การรู้จักตัวเองนี้ นอกจากช่วยให้ทำการที่เหมาะกับตนอย่างได้ผลดีแล้วก็ทำให้รู้จุดที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไปด้วย

๓. แก้ไขปรับปรุงเพื่อก้าวสู้การทำกรรมที่ดียิ่งขึ้น แน่นอนว่า ในที่สุดการปฏิบัติถูกต้องที่จะได้ประโยชน์จากกรรมเก่ามากที่สุด ก็คือ การทำกรรมใหม่ ที่ดีกว่ากรรมเก่า

ทั้งนี้ เพราะหลักปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนารวมอยู่ในไตรสิกขาอันได้แก่การฝึกศึกษาพัฒนาตน ในการที่จะทำกรรมที่ดีได้ยิ่งขึ้นไป ทั้ง

• ในขั้นศีล คือการฝึกกาย วาจา สัมมาอาชีวะ รวมทั้งการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)
• ในขั้นสมาธิ คือฝึกอบรมพัฒนาจิตใจ ที่เรียกว่าจิตภาวนาทั้งหมดและ
• ในขั้นปัญญา คือความรู้คิดเข้าใจถูกต้อง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง และสามารถใช้ความรู้นั้นแก้ไขปรับปรุงกรรม ตลอดจนแก้ปัญหาดับทุกข์หมดไปมิให้มีทุกข์ใหม่ได้

พูดสั้นๆ ก็คือ แม้ว่ากรรมเก่าจะสำคัญมาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะไปสยบยอมต่อมัน แต่ตรงข้าม เรามีหน้าที่พัฒนาชีวิตของเราที่เป็นผลรวมของกรรมเก่านั้นให้ดีขึ้น

ถ้าจะใช้คำที่ง่ายแก่คนสมัยนี้ ก็คือ เรามีหน้าที่พัฒนากรรม กรรมที่ไม่ดีเป็นอกุศล ผิดพลาดต่างๆ เราศึกษาเรียนรู้แล้วก็ต้องแก้ไข การปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ก็คือการพัฒนากรรม ให้เป็นกุศล หรือดียิ่งขึ้นๆ

ดังนั้น เมื่อทำกรรมอย่างหนึ่งแล้ว ก็พิจารณาวิเคราะห์ตรวจสอบคุณภาพและผลของกรรมนั้น ให้เห็นข้อยิ่ง ข้อหย่อน ส่วนที่ขาดที่พร่อง เป็นต้น ตามหลักเหตุปัจจัยที่กล่าวแล้วในหัวข้อก่อน แล้วแก้ไขปรับปรุงเพื่อจะได้ทำกรรมที่ดียิ่งขึ้นไป จะพูดว่า รู้กรรมเก่า เพื่อวางแผนทำกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไป ก็ได้.

**********************************************************
   

ที่มา : ˹ѧͧ˵ػѨ㹻ԨػҷС http://www.watnyanaves.net/Ծ

5,141







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย