ศาสนาคืออะไร? และ พระพุทธเจ้าสอนอะไร?

 ฟ้าเคียงสวรรค์     14 ก.พ. 2561

ศาสนาคืออะไร? และ พระพุทธเจ้าสอนอะไร?
........."ศาสนา" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "สาสนํ" ภาษาบาลีว่า "สาสนี" แปลว่า คำพูด หมายเอาคำ(พูด)สั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนา จึงหมายถึง พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง และ หมายเอาคั่งสอนหมวดสำคัญยิ่งที่พระบรมศาสดาทรงมีพระดำรัสตรัสสั่งให้คณะสงฆ์ในยุคพุทธกาล ทำการสังคายนา (สวดพร้อมกัน) ธรรมที่พระบรมศาสดาให้สังคายนา คือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการบรรลุเป็นพระอริยบุคคลโดยตรงไม่เกี่ยวกับการเกิดใหม่โดยสิ้นเชิง ธรรมทั้ง 37 ประการนี้ ประกอบด้วย
1. สติปัฏฐาน 4,
2. สัมมัปปธาน 4,
3. อิทธิบาท 4,
4. อินทรีย์ 5,
5. พละ 5,
6. โพชฌงค์ 7, และ
7. มรรคมีองค์ 8
รวมเป็น 37 เรียกว่า โพธิปักขิยธรรม 37
1.) สติปัฏฐาน 4 คือ การเจริญสติ (การฝึกสติให้เกิดความฉลาด “ปัญญา” รู้แจ้งในความจริงแห่งวงจรการเกิดในสังสารวัฏ (ปฏิจจสมุปบาท) และเห็นแจ้งในการดับวงจรการเกิด กระบวนการ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการมีดังต่อไปนี้
1. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาดูกาย (อานาปานสติ, เดินจงกรม เป็นต้น)
2. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา (เห็นว่าเวทนาต่างๆเป็นเพียงแค่นามธรรมไม่ใช่สัตว์บุคคลไม่มีตัวตนใดๆทั้งสิ้น (ขันธ์ 5)
3. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การเห็นจิตในจิต (เห็นว่าจิตเป็นเพียงตัวรับรู้อารมณ์ไม่มีลักษณะสุขทุกข์ใดๆเป็นของตัวเอง เป็นดั่งน้ำใสบริสุทธิ์เท่านั้น)
4. ธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การเห็นความเกิดดับของรูป ๆ ที่เห็นชัดคือร่างกายและส่วนประกอบของร่างกาย และรูปที่เป็นความคิด เป็นต้น -นาม คือจิตเห็นว่าทั้งรูปทั้งนามก็ไม่เที่ยงสักอย่าง (เห็นกฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง และ อนัตตา)

2.) สัมมัปปธาน 4 คือ กระบวนแห่งความเพียรอันยิ่งยวด มีดังตอไปนี้
1. สังวรปธาน คือ เพียรยับยั้งอกุศล คือ กามตัณหา ภวตัณหา และ วิภวตัณหา ไม่ให้เกิดขึ้นในดวงจิต
2. ปหานปธาน คือ เพียรกำจัดอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้ดับไปด้วยเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด
3. ภาวนาปธาน คือ เพียรทำกุศล (สมาธิ) ที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
4. อนุรักขนาปธาน คือ เพียรทำกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น และรักษากุศลนั้นให้ตั้งมั่นมิให้เสื่อมถอยด้วยความเพียรพยายามอย่างยิ่งยวด

3.) อิทธิบาท 4 คือ ทางแห่งความสำเร็จในกิจที่เป็นกุศล มีดังต่อไปนี้
1. ฉันทะ คือ ความพอใจและเต็มใจในการทำความเพียรภาวนา
2. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามรักษาความพอใจความเต็มใจไม่ให้เสื่อมถอย
3. จิตตะ คือ ความเอาใจใส่หรือความเอาจิตจดจ่ออยู่ในคำภาวนา
4. วิมังสา คือ การพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองในกระแสธรรมที่กำลังเกิด

4.) อินทรีย์ 5 คือ ธรรมที่ทำหน้าที่เป็นใหญ่ในอารมณ์ 5 ประการ มีดังต่อไปนี้
1. สันธินทรีย์ คือ ความศรัทธาในการทำภาวนาเพื่อความรู้แจ้ง
2. วิริยินทรีย์ คือ ความเพียรพยายามไม่ให้ศรัทธาเสื่อมถอย
3. สตินทรีย์ คือ จิตที่ตั้งอยู่ในปัจจุบันอารมณ์อย่างแน่วแน่
4. สมาธินทรีย์ คือ จิตที่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกลาง ๆ นุ่มนวลควรแก่การงาน หรือ มัชฌิมาปฏิปทา
5. ปัญญินทรีย์ คือ ปัญญารู้ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม หรือ สติน้อมจิตแยกกายแยกจิตไม่ให้ปนกัน จึงทำให้จิตไม่ทุรนทุรายในทุกข์ ไม่เพลิดเพลินในสุข ต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในระหว่างการทำภาวนา

5.) พละ 5 คือ อินทรีย์ 5 (จิตเป็นใหญ่) ที่มีกำลังแก่กล้าพร้อมจะตายในระหว่างเผชิญทุกข์อันแสนสาหัสขณะทำภาวนา มีดังต่อไปนี้
1. สัทธาพละ คือ ความศรัทธาเชื่อมั่นอย่างยิ่งยวดเต็มกำลังเกิดความอดทนต่อเวทนากบ้าต่าง ๆ ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ดวงจิตขณะทำภาวนา ถึงขั้นประกาศศึกต่อกองทัพกิเลสเลยว่า ตายเป็นตายเลยวันนี้ ไม่ชนะไม่เลิกความเพียรเลยละ
2. วิริยะพละ คือ ความเพียรพยายามที่มีกำลังแรงกล้า ความเพียรพยายามที่ตั้งมั่นและทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ จิตแน่วแน่ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวต่อสภาวะใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะทำภาวนา
3. สติพละ คือ สติตั้งมั่นเจิดจ้าอยู่ในอารมณ์ปัจจุบันมีอาการสั่นคลอนใด ๆ ความขี้เกียจ ง่วงซึม ท้อถอย หายเป็นปลิดทิ้ง นิวรณ์ทั้ง 5 สงบราบคาบ
4. สมาธิพละ คือ จิตตั้งมั่นสว่างเจิดจ้าหยั่งลงสู่ความเป็นกลาง หรือ มัชฌิมาปฏิปทาอย่างได้ระบบครบถ้วนพร้อมแล้วที่จะเดินจิตไปสู่ฌานลาภี หรือ ญาณทัศนะแห่งการรู้แจ้งเห็นแจ้งใน ขันธ์ 5 ทั้งหลาย
5. ปัญญาพละ คือ จิตสว่างเจิดจ้ามีกำลังเต็มภูมิ เกิดความเห็นในสันตติการสืบต่อของรูปของนามชัดเจนแจ่มแจ้งว่า ทุกข์เกิดเพราะสาเหตุ (สมุทัย) ใด ๆ รู้ว่าต้องดับ (นิโรธ) สาเหตุที่ก่อให้เกิดทุกข์ด้วย 8 ดวงปัญญา ที่เรียกว่า มรรคมีองค์ 8

6.) โพชฌงค์ 7 คือ ปัญญาที่เป็นองค์แห่งการบรรลุธรรม มี 7 ดวงปัญญา มีดังต่อไปนี้
1. สติสัมโพชฌงค์ คือ จิตที่ตังมั่นมีกำลังพร้อมแล้วในการที่จะสลัดคืนกิเลสทั้งปวง
2. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ คือ จิตที่เกิดความรู้แจ้งสามารถแยกแยะขันธ์ 5 ได้แล้ว
3. วิริยสัมโพชฌงค์ คือ จิตที่เกิดความเพียรแรงกล้าพร้อมแล้วที่จะทำลายภพชาติ
4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ จิตที่เกิดความอิ่มแล้วหรือพอใจเต็มภูมิในพระนิพพาน พร้อมสลัดแล้วซึ่งความพอใจอิ่มใจในภพในชาติ ในรูปฌาน อรูปฌาน
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ จิตสงบเต็มภูมิหยุดกระวนกระวายอย่างสิ้นเชิงในภพ ในชาติ ในรูปฌาน อรูปฌาน
6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ จิตที่เยือกเย็นสว่างเจิดจ้าปราศจากมลทินแห่งอามิสใด ๆ ในโลกียรูปใด ๆ ดั่งน้ำที่ถูกกลั่นเอาธาตุอาหารต่าง ๆ ออกหมดแล้ว หรือเพียงน้ำที่เป็นน้ำจริง ๆ ใสสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน ความรู้ความเห็นในวิชชาแห่งการทำลายล้างกิเลสผุดขึ้นไม่ขาดสาย
7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไม่สะเทือนสะท้านแล้วในกิเลสต่าง ๆ ที่เข้ามาประเล้าประโลม จิตพร้อมอย่างเต็มร้อยแล้วที่จะเข้าสู่แดนพระนิพพาน

7.) มรรคมีองค์ 8 คือ กระบวนปัญญาทั้ง 8 หรือ ความรู้ 8 แปดประการ มีดังต่อไปนี้
1. สัมมาทิฏฐิ คือ จิตรู้แจ้งเห็นคามความเป็นจริงในขันธ์ 5 เห็นการทำงานเป็นปัจจุบันอารมณ์ของรูป ของนาม
2. สัมมาสังกัปปะ คือ จิตทำการสลัดความขุ่นมัว ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความโลภ โกรธ หลง ออกทิ้งอย่างไม่แยแส
3. สัมมาวาจา คือ จิตคิด จิตสอน และ สั่งให้พูด แต่เรื่องธรรมที่จะทำให้พ้นทุกข์ เช่น สั่งให้ดูลม หรือ อานาปานะ หรือ การก้าวจงกรมไปแต่ละการเคลื่อนไหวอย่าให้เผลอ หรือ สั่งให้ภาวนาซากศพต่าง ๆ เพื่อให้เกิดสังเวทเพื่อให้เห็นธาตุแท้ของรูป ของนาม หรือ ขันธ์ 5 ตามความเป็นจริง
4. สัมมากัมมันตะ คือ จิตเพ่งอยู่ในงานแห่งการภาวนา
5. สัมมาอาชีวะ คือ จิตทำหน้าที่พิจารณา ขันธ์ 5 เป็นอารมณ์
6. สัมมาวายามะ คือ จิตทำความเพียรแรงกล้าในการแยกรูปแยกนามขันธ์ 5 ออกจากดวงจิต
7. สัมมาสติ คือ จิตตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบันอารมณ์ได้อย่างเต็มภูมิ นิวรณ์ทั้ง 5 คือ กามนิวรณ์ 1 พยาบาทนิวรณ์ 1 อุทธัจจ-กุกกุจจนิวรณ์ 1 ถีนมิทธนิวรณ์ 1 และ วิจิกิจฉานิวรณ์ 1 สงบราบคาบไม่มีส่วนเหลือ
8. สัมมาสมาธิ คือ จิตตั้งมั่นสว่างเจิดจ้าเห็นแจ้งซึ่งระบบปฏิจจสมุปบาทอย่างถ่องแท้ชัดเจน พร้อมแล้วที่จะสลัดคืนหมู่มวลกิเลสทั้งปวง


ที่มา : ศูนย์ฯประทีปโลก

3,780






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย