วัดรัชฎาธิษฐาน ราชวรวิหาร (วัดเงิน)


พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2300
วันรับวิสุงคามสีมา : วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2537


วัดรัชฎาธิษฐาน ราชวรวิหาร (วัดเงิน)

กรุงเทพมหานคร


วัดรัชฎาธิษฐานราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร ในแขวงคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร ริมคลองบางพรมฝั่งใต้ ตรงข้ามฝั่งคลองกับวัดกาญนสิงหาสน์วรวิหารที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเหนือ

เดิมเป็นวัดราษฎร์ชื่อ “วัดเงิน” สร้างสมัยอยุธยา โดยเจ้าขรัวเงิน พระภัสดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1

เจ้าขรัวเงินเป็นคนจีน แซ่ตัน มีน้องชายชื่อเจ้าขรัวทอง อพยพมาอยู่ที่คลองบางพรมแล้วสร้างวัดขึ้นคนละฝั่งคลองบางพรม คือวัดเงินและวัดทอง ตามนามของบุคคลทั้งสอง

ในรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี ทรงสถาปนาวัดเงินขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม และยกขึ้นเป็นเป็นพระอารามหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระอมรินทรา พระราชมารดา โปรดให้สร้างพระอุโบสถขึ้น และมีพระราชพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ.2366

เมื่อพิจารณาจากศิลปกรรมภายในวัดปัจจุบันแล้ว สันนิษฐานว่าในสมัยรัชกาลที่ 3 คงมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ จน พ.ศ.2397 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานนามวัดเงินเป็น “วัดรัชฎาธิฐาน”

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนพระอุโบสถและวิหารของวัดรัชฎาธิษฐานเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อ พ.ศ.2495   

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย พระประธานในพระอุโบสถ •

{ พระอุโบสถ }
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกหรือด้านหน้าพระอุโบสถเดิม สร้างในตำแหน่งของพระวิหารเดิมที่ชำรุดพังทลาย ทางวัดจึงได้รื้อลงแล้วสร้างพระอุโบสถหลังใหม่แทนที่ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2531 เป็นทรงไทย มีหน้าบันประดับภาพตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถหรือพระวิหารหลังเดิม แยกออกจากพระอุโบสถหลังเดิม

   
{ พระอุโบสถเดิม }
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ค่อนข้างขนานไปกับคลองบางพรม หรือหันหน้าออกสู่คลองชักพระ (ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม)
ตามประวัติกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 คือมีพาไลรอบ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับลายปูนปั้นเครือเถาลายพุดตาน ไม่มีช่อฟ้าใบระกา
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ ไม่ปรากฏพระนาม นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปยืน ซึ่งล้วนพระพุทธรูปเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในสมัยอยุธยา
ใบเสมาเป็นเสมาเดี่ยวขนาดใหญ่หนามาก มีรูปแบบเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง ราวรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือพระเจ้าทรงธรรมลงมาดังนั้นอาจเป็นเสมาที่มีอยู่ติดวัดมาก่อนหน้าการบูรณะใหญ่สมัยรัชกาลที่ 3
รอบพระอุโบสถหลังเดิมมีกำแพงแก้วล้อมรอบ แยกออกจากพระวิหารหลังเดิมหรือพระอุโบสถหลังปัจจุบัน   
{ พระประธาน ประดิษฐานในพระอุโบสถ }
เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะ ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.50 เมตร ไม่ปรากฏพระนาม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดหวายลูกนิมิต และทรงยกฉัตรพระประธานประจำพระอุโบสถ   
{ เจดีย์ }
ประดิษฐานอยู่รายรอบพระอุโบสถ เป็นมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 9 องค์ เมื่อรื้อพระวิหารเพื่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ก็ยังคงรักษาเจดีย์เหล่านี้ไว้   
{ หอพระไตรปิฎก }
ลักษณะเป็นหมู่อาคารเรือนไทย 4 หลัง ปลูกรวมกันในสระน้ำตามคติโบราณ เพื่อป้องกันปลวกและหนูเข้าไปกัดกินพุทธธรรมคัมภีร์ มีช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเขียนลายทอง มีเรือนขวางด้านทิศตะวันออก ตัวเรือนขวางทำผนังโปร่งด้านนอกรอบชายคา น่าจะเติมขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนผนังชั้นในแท้ๆ หน้าต่างมีซุ้มสลักไม้สวยงาม บานหน้าต่างเขียนลายทอง ต่อจากหลังใหญ่ไปทางทิศตะวันตก ต่อเรือนออกไปอีก 1 หลัง ทำหลังคาหลุบลง   
{ ศาลาการเปรียญ }
เดิมเป็น “ตำหนักแดง” ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ตำหนักนี้ตั้งอยู่เบื้องหลังพระที่นั่งพิมานรัตยา ในหมู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระตำหนักนี้ได้เป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ซึ่งได้พระราชทานให้แก่วัดเงิน
เป็นอาคารหลังเดียว 2 ชั้น มีความยาว 9 ห้อง โดยเป็นเรือนพระประธาน 5 ห้อง และมีมุขลดหน้าหลังมุขละ 2 ห้อง ชั้นล่างเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งสร้างใหม่เมื่อย้ายจากที่ตั้งเดิม ส่วนชั้นบนยังเป็นโครงสร้างไม้ที่ยังคงสภาพรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมแบบเดิมไว้ ภายในศาลาการเปรียญมีภาพจิตรกรรม เช่น ทศชาติ และนรกภูมิ   
{ ธรรมาสน์บุษบก }
ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญ มีฐานกว้าง 6.75 เมตร สูง 6.40 เมตร ได้รับพระราชทานจากสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ ลักษณะเป็นแบบสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีเชิงกลอนซ้อน 5 ชั้น งดงามมาก   
{ หอระฆัง }
ก่ออิฐถือปูน ทรงยอดเกี้ยวอย่างจีน สร้างบนฐานแปดเหลี่ยมมีพนักล้อม   
{ ศาลาท่าน้ำ }
เป็นศาลาโถงทรงไทย มีอยู่หลายหลัง เรียงรายกันตามริมคลองบางพรม   
วัดรัชฎาธิษฐาน ราชวรวิหาร (วัดเงิน)   

- เจ้าอาวาส -
• พระเทพวิมลโมลี (ประเวช ธนปญฺโญ) •


 10,413


พระอารามหลวงทั่วไทย




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย