วัดอัมพวันเจติยาราม วรวิหาร (วัดอัมพวา) สมุทรสงคราม





วัดอัมพวันเจติยาราม วรวิหาร (วัดอัมพวา) สมุทรสงคราม พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2325
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2325


วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นพระอารามหลวง ชั้นโทชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ทิศเหนือจดถนนหลวง ทิศใต้จดแม่น้ำแม่กลอง ด้านข้างทั้งสองด้านติดกับลำคลอง วัดนี้สร้างในสมัย ร.๑ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้รับวิสุงคามสีมา พ.ศ. ๒๓๒๕

วัดอัมพวันเจติยาราม มีความสำคัญยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะเป็นนิวาสสถานเดิมของหลวกยกบัตร (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ราชวงศ์จักรี) และคุณนาก (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ พระบรมราชินี ใน รัชกาลที่ ๑) ได้มาอาศัยอยู่หลังจากที่บ้านเดิมใกล้วัดจุฬามณีถูกไฟไหม้ไปหมดแล้ว เมื่ออพยพมาจากป่า บริเวณหลังวัดจุฬามณี จึงได้มาอาศัยอยู่ ณ ที่นี้ และได้คลอดบุตรคนที่ ๔ คือ คุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒) ณ สถานที่แห่งนี้ เชื่อกันว่า คือ บริเวณพระปรางค์ของวัดอัมพวันฯ ซึ่งรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพระราชบิดา

สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ และบรรดาพระญาติได้ร่วมกันสร้างวัดนี้ถวายสมเด็จพระมารดา (สมเด็จพระรูปศิริโสภาคมหานาคนารี) ซึ่งได้อุทิศบ้านเดิม และที่ดินทั้งหมดให้สร้างวัดและได้บวชเป็นพระรูปชีจำศีลอยู่ ณ วัดนี้จนตลอดชีวิต
วัดนี้ได้รับการปฏิสังขรณ์ตลอดมาตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระวิหารน้อย (พระที่นั่งทรงธรรม) พระวิหาร และกุฏิใหญ่
รัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์ พระอุโบสถทั้งหลังและทรงสร้างโรงธรรมศาลาขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง
รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดอัมพวันฯ ได้ทรุดโทรมลงไปมากได้เสด็จมาทอดพระเนตร เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ คราวที่เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี หลังจากนั้นได้ทรงแต่งตั้งพระครูวัดบ้านแหลมขึ้นเป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ (แดง) และโปรดให้ไปครองวัดอัมพวันฯ เพื่อไปบูรณปฏิสังขรณ์ให้ทรงสภาพดีขึ้น


- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระประธานในพระอุโบสถ , หลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำในพระวิหารทรงธรรม •


{ วิหารและพระปรางค์ในพระวิหาร }
ซึ่งเป็นสถานที่บรรจุพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย


{ พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย }


{ พระอุโบสถ }
อุโบสถของวัดเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องด้านหน้าและมีพาไลยื่นออกมา หน้าบันประดับกระจกสี


ภายในพระอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนช่วงปี พ.ศ. 2540–2542 เป็นภาพแสดงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง คาวี และ อิเหนา และบริเวณประตูด้านหน้าเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค


{ พระที่นั่งทรงธรรม }
วิหารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องมีชายคาปีกนกคลุมทั้งสี่ด้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป "หลวงพ่อทรงธรรมหรือหลวงพ่อดำ" และรอยพระพุทธบาทจำลองสี่รอย


{ กุฏิทรงไทยยกพื้นสูง }
สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช




10,866







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย