พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า พระไตรปิฎก หัวข้อธรรม การปฏิบัติธรรม ศาสนพิธี วันสำคัญทางศาสนา ทำเนียบวัดไทย พระพุทธศาสนาในประเทศไทย
 
หน้าแรก ทำเนียบวัดไทย ภาคกลาง วัดมหาธาตุ วรวิหาร จ.ราชบุร
วัดมหาธาตุ วรวิหาร จ.ราชบุรี
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร

   วัดมหาธาตุ วรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรี

นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีว่า แรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัฒนธรรมเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี จึงได้มีการก่อสร้างและดัดแปลงศาสนสถานกลางเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระปรางค์ และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของเขมร ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ – ๒๑ ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้งซ้อนทับและสร้างพระปรางค์บริวารขึ้นอีก ๓ องค์บนฐานเดียวกัน

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ ให้ย้ายเมืองราชบุรีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก ประชาชนก็ย้ายตามความเจริญไปด้วย วัดมหาธาตุจึงกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. ๒๓๓๘ พระภิกษุองค์หนึ่งชื่อพระบุญมา ได้ธุดงค์มาเห็นวัดนี้มีสถานที่ร่มรื่น เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมจึงได้ขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนช่วยกันปัดกวาดซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ ในที่สุดวัดมหาธาตุจึงกลับมาเป็นศูนย์กลางของศาสนาเช่นเดิม และยังคงเป็นมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งสำคัญในวัด ได้แก่


พระปรางค์ประธาน เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ และได้รับการซ่อมแวมเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนต้นตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก และภาพจิตรกรรมภายใน ประกอบด้วยพระปรางค์ประธานและพระปรางค์บริวาร ๓ องค์บนฐานเดียวกันมีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาน ด้านตะวันออกของพระปรางค์ประธานมีบันไดและขึ้นมุขยื่น ภายในเป็นคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์ ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปพระอดีตพุทะเจ้า สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างองค์พระปรางค์



พระวิหารหลวง อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ภายนอกระเบียงคด เป็นซากอาคารในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานด้านล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ด้านหน้ามีมุขยื่น บนพระวิหารเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่ แต่พังทลายลงหมด บนฐานวิหารมีอาคารไม้โล่ง หลังคาเครื่องไม่มุงสังกะสี อาคารหลังนี้กล่าวกันว่านายหยินบิดาของขุนสิทธิสุวรรณพงศ์ อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรีเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระวิหารนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนพระอภิธรรมราชบุรี ภายในอาคารพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายขนาดใหญ่แสดงปางมารวิชัย ๒ องค์ ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน พุทธศิลปะแบบอยะยาตอนต้น ด้านข้างทั้งสองและด้านหน้าของพระวิหารที่มุมด้านตะวันออกแยงเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้ มีวิหารขนาดเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสีแดงปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกันคล้ายกับพระพุทธรูปบนพระวิหารหลวง

กำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบองค์พระปรางค์ทั้งสี่ด้าน เหนือกำแพงมีในเสมาทำด้วยหินทรายสีชมพูจำหลักพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว ลักษณะพุทธศิลปะเขมรแบบบายน (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘) เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดมหาธาตุได้ดำเนินการขุดเพื่อก่อสร้างอาคาร บริเวณด้านข้างวิหารเล็กที่มุมขนาดย่อมนอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมส่วนยอดของพระปรางค์ สันนิษฐานว่าคงเป็นอาคารที่สร้างขึ้นคราวเดียวกับกำแพงแก้ว

ราวบันไดรูปครุฑยุคนาค พบจำนวน ๒ ชิ้น จำหลักจากหินทรายสีแดงตั้งอยู่ที่ทางเข้าภายในระเบียงคดด้านทิศตะวันออก ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดลบเลือนชิ้นหนึ่งเป็นรูปครุฑจับนาค ๓ เศียร ด้านหลังเป็นเศียรนาค ๕ เศียรแผ่พังพาน อีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปนาคห้าเศียรไม่มีรูปครุฑประกอบ ทั้งสองชิ้นเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘

พระอุโบสถ สันนิษฐานจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่าสร้างขึ้นตอนปลายสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้รับการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาลด ๒ ชั้น ๓ ตับ เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ด้านหน้าและด้านหลังทำพาไลยื่นรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนจำนวน ๓ ตับ ด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบ ฐานอาคารมีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย คือแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภาหรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้าง ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านาง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานดอกบัว ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ

พระมณฑป ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระปรางค์ประธานภายนอกกำแพงแก้วปัจจุบันอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงรองรับฐานสิงห์ ผนังรอบด้านมีซุ้มหน้าต่างทรงมณฑปด้านละ ๑ ซุ้ม เว้นด้านตะวันออกเป็นซุ้มประตูทางเข้ามีบันไดขึ้น – ลง เครื่องหลัวคาของพระมณฑปพังทลายลงหมดแล้ว ภายในพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาททำด้วยหินทรายสีแดง ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์ และตอนผจญกองทัพพญามาร ปัจจุบันมีสภาพลบเลือนเกือบหมด เพราะไม่มีหลังคาคลุมทำให้น้ำฝนชะล้างสีจนภาพเลอะเลือน พระมณฑปหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระเจดีย์ เป็นเจดีย์รายเรียงเป็นแถวอยู่ด้านหน้าพระมณฑปจำนวน ๕ องค์ เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน ๔ องค์ และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก ๑ องค์ ทั้งหมดเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ฐานของพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองมีจารึกบนแผ่นหินอ่อนความว่า พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ สามเณรเซียะเล็ก พร้อมบุตรทิพ เจริญ ฮกเซ่งพิจารณาเห็นว่า พระเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุถาวรจึงได้พร้อมใจกันมีศรัทธาสร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนานิพ์พานปัจจ์โยโหตุอนาคตะฯ


ข้อมูลวัด
วัดมหาธาตุ วรวิหาร
ถ.เขางู ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี
ความสำคัญ : พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร, โบราณสถานสมัยวัฒนธรรมทวารวดี
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
เว็บไซต์วัด : -

กลับสู่หน้าวัดไทย
  บอกบุญ ~ ประชาสัมพันธ์