น้องเม สุดยอด ซิวแชมป์ยูเอสเกิร์ลจูเนียร์ครั้งแรก

 Webmaster  


"น้องเม" เอรียา จุฑานุกาล สร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์ กอล์ฟเยาวชนหญิง "ยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ" ได้สำเร็จ หลังเอาชนะ นักกอล์ฟจากฟิลิปปินส์ 2 และ 1 ในนัดชิงชนะเลิศ รอบแมตช์เพลย์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันที่ 24 ก.ค.ว่า "น้องเม" เอรียา จุฑานุกาล นักกอล์ฟสาววัย 15 ปี จากประเทศไทย สร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมอีกครั้ง ล่าสุด คว้าแชมป์กอล์ฟเยาวชนหญิง "ยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ" ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มาครองได้สำเร็จ

เอรียา ผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศในรอบแมตช์เพลย์กับ ด็อตตี เออร์ดินา นักกอล์ฟสาววัย 17 ปีจากฟิลิปปินส์ โดยแข่งขันกันทั้งสิ้น 36 หลุม ที่ เซาธ์คอร์ส สนามโอลิมเปีย ฟิลด์ส คันทรี คลับ ระยะ 6,403 หลา พาร์ 72 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่น) ผลปรากฏว่า เอรียาเอาชนะไปได้ 2 และ 1

เอรียา สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ ยูเอสจีเอ แชมเปียนชิพให้กับตัวเองได้เป็นครั้งแรก พร้อมกลายเป็นนักกอล์ฟคนที่ 16 ในรอบ 63 ปี ที่ได้แชมป์ในรอบสโตรกเพลย์มาด้วย รวมถึงยังเป็นนักกอล์ฟไทยคนที่สาม ที่ได้แชมป์ของ ยูเอสจีเอ

ขณะเดียวกันชัยชนะในครั้งนี้ ยังทำให้ เอรียา ได้สิทธิ์เต็มในการเข้าร่วมรายการ ยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ ที่เหลืออยู่ทั้งหมด ก่อนที่เธอจะอายุครบ 18 ปี อีกด้วย

สาวน้อยจากกรุงเทพฯ กล่าวให้สัมภาษณ์หลังชัยชนะว่า เธอรู้สึกดีใจอย่างมาก ที่ได้แชมป์แรกในการเล่นแมตช์เพลย์ แต่ยอมรับว่า ตนเองออกสตาร์ทในช่วงแรกไม่ค่อยดี หลังจากที่พัตต์ระยะสั้นๆ พลาดหลายครั้งในวันนี้

ภาพประกอบ : http://www.usga.org/ChampEventAlbum.aspx?id=21474840935#show=70f48578-6eeb-4b90-8267-ad5398d8ba46



---- หลักธรรม ประกอบข่าว ---

พละ 4 หมายถึง หลักธรรม 4 ประการที่เป็นกำลังในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จด้วยความมั่นใจและปลอดภัยมีดังนี้

1. ปัญญาพละ หมายถึง ปัญญาที่เป็นกำลัง ให้รู้ดี รู้ชอบ รู้ถูกต้อง แล้วปฏิบัติตนในทางที่ถูกที่ควรทั้งกายและใจ เพื่อจะได้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีความสุข คนทุกคนมีปัญญาแต่ไม่เท่ากัน คนที่มีปัญญาดีอาจจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตได้มากกว่า ส่วนคนที่มีความรู้หรือปัญญาไม่ดีสะสมเพิ่มพูนได้เพราะปัญญาเกิดขึ้นโดย 3 ทาง คือ
1.1 ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน คือได้รับการถ่ายทอดจากผู้อื่นโดยการฟังการอ่าน
1.2 ปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง ตามพื้นฐานพันธุกรรม เช่น ฟังเรื่อง การปลูกฟักทอง กว่าจะได้ผลอีก 65 วัน แล้วนำมาศึกษาไตร่ตรองทดลองใหม่ ได้ฟักทองที่ให้ผลในเวลา 45 วันเป็นต้น
1.3 ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติ ฝึกอบรมและสร้างสมประสบการณ์ด้วยตนเอง เช่น ช่างถ่ายรูปต้องเรียนรู้ทฤษฎีเกี่ยวกับกล้องถ่ายรูปก่อนแล้วมาฝึกการถ่ายรูปจนเกิดความชำนาญ ทำเป็นอาชีพได้

2. วิริยะพละ หมายถึง ความเพียรพยายามที่เป็นพลัง ในการทำให้คนเราไปสู่จุดมุ่งหมายที่ต้องการ โดยความเพียรนั้นต้องเป็นความเพียรชอบคือ
2.1 เพียรพยายามไม่ให้เกิดความชั่ว ไม่ทำชั่วดูแลคนใกล้ชิดให้อบอุ่น ป้องกันให้ห่างไกลจากการคิดชั่ว ทำชั่ว เช่น ดูแลบุตรหลานไม่ให้ติดยาเสพย์ติด
2.2 เพียรพยายามละความชั่วที่มีอยู่แล้ว เช่น ติดบุหรี่อยู่ก็เลิกเสีย
2.3 เพียรสร้างความดี โดยการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี มีการเสียสละและช่วยเหลือส่วนรวมบ้าง เช่น การบริจาคโลหิต
2.4 เพียรรักษาความดีและสร้างความดีเพิ่มขึ้น
คนเราเมื่อมีปัญญาก็จะรู้จักคิด หาเหตุผล รู้ปฏิบัติ แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จไปทุกอย่าง บางทีก็มีอุปสรรค เราจึงต้องมีความเพียรมีความบากบั่น ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคเราจึงจะไปถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้

3. อนวัชชพล หมายถึง การกระทำที่ไม่มีโทษเป็นกำลัง คือทำในสิ่งที่ดีที่เป็นมงคลผู้กระทำจะเกิดความเจริญก้าวหน้า การกระทำที่กล่าวนี้มี 3 ทางคือ
3.1 กายกรรม คือการกระทำทางกาย เช่น การยืน การเล่น การสั่งสอน
3.2 วจีกรรม คือการกระทำทางวาจาที่เป็นคำพูด เช่น การพูดคุย
3.3 มโนกรรม คือ การกระทำทางใจ เช่น การนึกคิด การมีจิตเมตตา
หลักเกณฑ์การพิจารณาว่า การกระทำใดเป็น อนวัชชพล
1. ไม่ผิดกฏหมาย เช่น ฆ่าคน ค้ายาเสพย์ติด
2. ไม่ผิดจารีตประเพณี เช่น การที่หญิงสาวบรรลุนิติภาวะ หนีตามผู้ชาย
3. ไม่ผิดศีล เช่น พูดเท็จ ดื่มน้ำเมา
4. ไม่ผิดธรรม เช่น การโกรธ การคิดอิจฉาริษยา
การกระทำทางกาย วาจาและใจที่ไม่มีโทษย่อมได้รับการยกย่องชื่นชมจากผู้อื่นและยังเป็นพลังให้ผู้กระทำดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย

4. สังคหพละ หมายถึง การสงเคราะห์เป็นกำลังเพราะคนเมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม ก็ควรจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อสร้างความรักความสามัคคี ในทางพระพุทธศาสนามีหลักธรรมในการสงเคราะห์ผู้อื่น เรียกว่า สังคหวัตถุ 4 ได้แก่
4.1 ทาน คือ การให้โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ให้กับผู้ที่ต้องการ ผู้ที่เดือดร้อนขาดแคลนหรือผู้มีพระคุณ การให้อาจเป็นวัตถุสิ่งของ คำแนะนำหรือข้อคิด ของที่ให้ต้องไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ผู้ให้มีความสุขผู้รับก็พอใจ
4.2 ปิยวาจา คือการใช้วาจาที่สุภาพประกอบด้วยเหตุผลที่มีประโยชน์ ฟังแล้วสร้างสรรใช้คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน ไม่ใช้คำหยาบ ไม่นินทาผู้อื่น ผู้ที่มีปิยวาจาจะเป็นที่รักของผู้อื่น
4.3 อัตถจริยา คือการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นตามโอกาสอันควรในฐานะที่ต้องอยู่ร่วมสังคมกัน เช่น บริจาคของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
4.4 สมานัตตตา คือ ความเสมอต้นเสมอปลาย ในการวางตนให้เหมาะสมกับสถานะของตนไม่หวั่นไหวตกอยู่ในความชั่วทั้งหลาย เช่น การทำตนเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ทุก ๆ วัน ไม่ใช่ทำตนดีเฉพาะวันพ่อหรือวันแม่เท่านั้น
พละ 4 นี้เป็นธรรมที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจและปลอดภัยแล้วยังส่งเสริมให้เกิดความสงบสุขด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

..

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์

18,905






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย