วิปัสสนา

เรื่องที่ ๕ : ไตรลักษณ์คืออะไร ?
โดย : ห้องวิปัสสนาธรรมะไทย


ไตรลักษณ์ ก็คือ ลักษณะธรรมดาของโลก ซึ่งมีอยู่ ๓ ประการด้วยกันอันได้แก่

๑.อนิจจัง คือความไม่เที่ยง นี่คือลักษณะธรรมดาของโลกประการแรกลองดูซิ มีสิ่งใดในโลกที่ เที่ยงแท้แน่นอนบ้าง นับตั้งแต่ร่างกาย....หลังจากเป็นเด็กก็โตเป็นวัยรุ่นหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่ แก่..แล้วก็ตายในที่สุด ถ้าเป็นของเที่ยงเมื่อ เกิดมาแล้ว ก็ต้องเป็นเด็กอยู่อย่างนั้น เป็นหนุ่ม สาวอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องแก่ไม่ต้องเจ็บไม่ ต้องตาย.... แต่นี่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่เมื่อเกิดมาแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและผลสุดท้ายก็ต้องจบลงด้วยการแตกดับ ในส่วนของอารมณ์ความ นึกคิดและจิตใจ นี่ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน บางวันจิตใจก็แจ่มใส บางวันก็ขุ่นมัว สลับสับเปลี่ยน กันไป ให้สังเกตดู แล้วจะรู้ว่า ความไม่เที่ยง นี่เป็นธรรมดาของโลกอย่างหนึ่งจริงๆ

๒.ทุกขัง คือความเป็นทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น เรานั่งโดยไม่ลุกไปไหน เลย ทุกข์ไหม ?.....ทุกข์ คือทุกข์เพราะเมื่อยเพราะมีทุกข์เป็นตัวบีบคั้น มันจึงต้องเปลี่ยน แปลง ( ไม่เที่ยง ) ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์และความ เป็นทุกข์ ความทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก นี่ก็จึงเป็นธรรมดาของโลกอย่างที่สอง

๓.อนัตตา คือการที่ไปบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ร่างกาย เมื่อถึงเวลา ผมจะหงอก ฟันจะหัก หนังจะเหี่ยว เราจะไปบังคับว่า ผมอย่าหงอกนะ ฟันอย่าหักนะ หนัง อย่าเหี่ยวนะ เราจะไปห้ามได้ไหม ?....ไม่มีใครห้ามได้หรอก เพราะธรรมชาติของเรามีปกติ ต้องเสื่อมไป สิ้นไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เข้าใจหลักธรรมดาข้อนี้ ใจเราก็จะเข้าไปบังคับบัญชาพอบังคับบัญชาไม่ได้ดั่งใจ มันก็เลยพาลเกิดทุกข์

ฉะนั้น กฎไตรลักษณ์ หรือกฎธรรมดาของโลกนี่ ถ้าเราเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้ง มันจะช่วยลด ทุกข์ให้เราได้อย่างมากทีเดียว




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย