คลังแสงแห่งธรรม
สมาธิ

สมาธิ : เรื่องที่ ๒๓ : พรหมวิหาร
โดย : พระอริยคุณาธาร สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนกวาง


"พรหมวิหาร" ท่านพระอริยคุณาธาร ( ปุสฺโส เส็ง ) ท่านได้ให้คำอธิบายไว้ดังนี้ "พรหมวิหาร" คือ อยู่อย่างพรหม บุคคลจำพวกหนึ่ง ซึ่งทำความดี แล้วได้อุบัติในพรหมโลก เรียกว่า พรหม พรหมนั้นมีใจสะอาด นิ่มนวล อ่อนโยน ควบคุมใจไว้ในอำนาจได้ดี มีคุณธรรม ประจำใจ ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา ธรรม ๔ ประการนี้ จึงได้นามว่า พรหมวิหาร การอบรมใจ โดยยึดเอาลักษณะของพรหมเป็นตัวอย่างและปลูกธรรม ๔ ประการ นั้น ขึ้นในใจของตน ทำตนให้เหมือนพรหม เรียกว่าเจริญพรหมวิหาร พึงเจริญไปตามลำดับ ข้อธรรม ๔ ประการคือ

๑. เมตตา ความรักที่บริสุทธิ์ มีลักษณะมุ่งดี หวังดี ตรงกันข้ามกับความขึ้งเคียดเกลียดชัง และเป็นความรักที่ปราศจากกามราคะ ( คือความกำหนัด ) เป็นชนิดความรักระหว่าง มารดาบิดา กับ บุตรธิดา

๒. กรุณา ความเอ็นดู มีลักษณะทนดูดายไม่ได้ พอใจช่วยเหลือเกื้อกูลให้เขาได้รับสุข โดย ไม่เห็นแก่เหนื่อยยากและสิ่งตอบแทน ตรงกันข้ามกับความพยาบาทมาดร้าย

๓. มุทิตา ความชื่นใจ มีลักษณะร่าเริงชื่นบาน พลอยมีส่วนในความสุข ความเจริญของผู้อื่น ตรงกันข้ามกับความริษยา ซึ่งไม่อยากใใครได้ดีมีสุขกว่าตน หรือเท่าเทียมตน

๔. อุเบกขา ความเที่ยงธรรม มีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ ใจหนักแน่น รู้จักสิ่งเป็นไปได้ - เป็นไป ไม่ได้ ดีแล้ว มองเห็นความเป็นไปตามกรรมของสัตว์แจ้งชัดในใจ ควรช่วยก็ช่วย ไม่ควรช่วยก็ไม่ช่วย เป็นผู้รู้จักประมาณทำให้คุณธรรม ๓ ข้อข้างต้นสมดุลย์กันด้วย ใจจะสงบเย็นด้วยคุณธรรมข้อนี้อย่างมากทีเดียว จึงสามารถข่มกามราคะได้อย่างดี

วิธีปฏิบัติ ปลูกคุณธรรม ๔ ประการนี้ขึ้นในใจทีละข้อก่อน ทำใจให้มีลักษณะตามคุณธรรม ๔ ประการนี้ ทีละข้อ แล้วแผ่น้ำใจเช่นนั้นไปยังผู้อื่น ตั้งต้นแต่คนที่เรารักอยู่แล้ว( เว้นคนต่างเพศ กัน ) ไปคนที่เป็นกลาง - คนที่ตนเกลียดชัง - คนทั่วไป - สัตว์ทั่วไป ตลอดสากลโลกทุกทิศทุก ทาง เมื่อปฏิบัติได้ถึงขั้นนี้ ชื่อว่า สำเร็จ อัปปมัญญาเจโตวิมุตติ ใจจะมีอิทธิพลเกินคาดหมาย
คือ เมตตาพละ กำจัดศัตรูภาพได้ดี
กรุณาพละ กำจัดทารุณภาพได้ดี
มุทิตาพละ กำจัดความทุกข์โศกของผู้อื่นได้ดี
อุเบกขาพละ กำจัดกามราคะในเพศตรงกันข้ามได้ดี

สตรีกับบุรุษผู้มีอุเบกขาพละ จะเป็นมิตรสนิทสนมกันได้ โดยไม่ละเมิดอธิปไตยของกันและกัน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย