คลังแสงแห่งธรรม
สมาธิ

สมาธิ : เรื่องที่ ๗ : รายละเอียดของตติยฌาน
โดย : พระอริยคุณาธาร ( ปุสฺโส เส็ง )


ตติยฌาน ตามลักษณะที่ปรากฏในพระบาลี คือ สิ้นกำหนัดในปีติแล้ว จึงเข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วย ( คือนามกาย ) อยู่โดยนัยนี้เป็นอันว่าต้อง ละองค์ที่ ๓ ของปฐมฌานเสียอีก คงเหลือแต่ ๒ องค์ คือ สุข กับ เอกัคตา แต่มีลักษณะ พิเศษเพิ่มขึ้นในฌานชั้นนี้อีก ๓ คือ อุเบกขา สติ และสัมปชัญญะ ฉะนั้นจึงคงมีองค์ ๕ เหมือนกัน แต่พระโบราณาจารย์ท่านกำหนดไว้เพียง ๒ องค์เท่านั้น ทำไมในฌานชั้นนี้จึง ต้องกำจัดปีติ ? เป็นเรื่องที่ควรรู้ไว้

ปีตินั้นมีลักษณะทั้งอ่อนและรุนแรง ท่านจำแนกตามลักษณะที่พอกำหนดได้ ๕ ลักษณะดังนี้

๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย มีลักษณะชื่นๆ เพียงนิดหน่อย เหมือนฝอยน้ำกระเซ็นถูกกายฉะนั้น
๒. ตรุณาปีติ ปีติอ่อนๆ มีลักษณะเย็นกาย เย็นใจ ชื่นใจ เหมือนลมอ่อนๆ พัดมาเฉื่อยๆ ต้องกาย พอเย็นสบายฉะนั้น
๓. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน มีลักษณะชุ่มชื่น แต่ซ่านไปทั่วสรรพางค์กายทั่วทุกเส้นขนเหมือน อาบน้ำเย็นทั่วทั้งตัว ได้รับความชุ่มเย็นดีฉะนั้น
๔. โอกกันติกาปีติ ปีติซู่ซ่า มีลักษณะชื่นฉ่ำ ทำให้เกิดอาการขนพองสยองเกล้าน้ำตาไหลหัวใจ เต้นแรงตึ้กตั้ก เหมือนคนลงแช่ในน้ำเย็นนานๆ เกิดอาการ
๕. อุพเพงคาปีติ ปีติตื่นเต้น มีลักษณะฟูขึ้น ทำให้จิตใจเบา กายเบา และพองโตขึ้น บางทีถึง กับทำให้ลอยไปในอากาศได้ เหมือนคนที่ได้รับสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เช่นได้รับการ ยกย่อง หรือ เหน็จรางวัลจากผู้หลักผู้ใหญ่โดยไม่นึกไม่ฝัน ย่อมเกิดความตื่นเต้นลิงโลด ถึงกับกระโดดโลดเต้นอย่างเด็กๆ ก็ได้ฉะนั้น

เมื่อปีติมีลักษณะดังกล่าวมา แม้เพียงปีติเล็กน้อย ก็สามารถทำใจให้กระเพื่อมหรือไหวนิดๆ เหมือนน้ำใสๆ ที่ใส่ไว้ในภาชนะ ตั้งไว้ในที่ไม่มั่นคง เมื่อคนเดินไปเดินมาย่อมทำให้น้ำใน ภาชนะนั้นมีริ้วน้อยๆขึ้นได้ ปีติจึงเป็นอันตรายของอุเบกขาสุข ซึ่งเป็นองค์สำคัญของ ตติยฌาน จำเป็นต้องกำจัดเสีย ปีติดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจความพอใจ ยินดีรับเสวยอยู่ไม่ดำรง ใจให้เป็นกลางไว้ เมื่อเห็นโทษของปีติแล้ว ต้องการเสวยสุขประณีตสุขุม จึงวาง ความพอใจ ในปีติเสียทำสติสัมปชัญญะกำกับใจ ให้เป็นกลางยิ่งขึ้น ปีติก็ค่อยจางไปโดยลำดับ ในที่สุด ปิติก็หายหมดไปจากใจ คงยังเหลือ แต่สุขสุขุมประณีต กระชับกับ อุเบกขาท่านจึงเรียกว่า อุเบกขาสุข และใช้เป็นชื่อของฌาน ชั้นนี้ในที่บาง แห่งด้วยเมื่อปีติจางไปหมดแล้ว ก็สามารถ เข้าตติยฌาน และดำรงฌาน ไว้ตามต้องการได้

ส่วนสุขในฌานชั้นนี้ ต่างจากสุขในฌาน ที่ ๑ - ๒ ซึ่งผ่าน มาแล้ว สุขในฌานที่ ๑ - ๒ เป็นสุขเวทนาชัดๆ แผ่คลุมทั้งทางกายทางใจ ส่วนสุขในฌาน ที่ ๓ นี้ เป็นสุขเวทนาที่สุขุม ใกล้ไปทางอุเบกขา เป็นความสุขทางใจโดยเฉพาะ ไม่คลุมไป ถึงรูปกายฌานชั้นนี้ พระอริยเจ้า ชมเชยว่า เป็น สุขวิหาร ก็โดยฐานที่เป็นสุขประณีตสุขุม ในภายใน ไม่กระเทือนถึงรูปกาย สามารถหลบทุกขเวทนาทางกายได้ ทั้งอาจระงับอาพาธได้ด้วยเป็นอันได้ความว่า ตติยฌาน มีลักษณะเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้

๑. จิตจางปีติ คือหมดความรู้สึก ดูดดื่มชุ่มชื่นดังในฌานก่อน
๒. จิตเป็นกลาง คือวางเฉย ไม่รับเสวยปีติ
๓. จิตมีสติควบคุม คือสติมีกำลังแก่กล้าขึ้น มีอำนาจควบคุมใจให้ดำรง
๔. จิตมีสัมปชัญญะกำกับ คือจิตมีความรู้สึกตัวเองชัดขึ้น รู้เท่าอาการ
๕. จิตเสวยสุขุมสุข คือเสวยสุขประณีต ณ. ภายในด้วยนามกาย ปราศจากความรู้สึกทาง รูปกาย ตัดกระแสสัมพันธ์ทางรูปกายได้
๖. จิตถึงความเป็นหนึ่ง คือเป็นจิตดวงเดียว มีอารมณ์น้อย สุขุมประณีต









จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย