< หมอชีวกโกมารภัจจ์ / พระพุทธสาวก / พระพุทธศาสนา - ธรรมะไทย


หมอชีวกโกมารภัจจ์
หมอชีวกเป็นบุตรนางโสเภณีนามว่า สาลวดี นางนครโสเภณีผู้ทรงเกียรติแห่งเมืองราชคฤห์ โดยพระเจ้าแผ่นดินทรงแต่งตั้ง มีเงินเดือนและค่าตัวสำหรับผู้ร่วมอภิรมย์อีกคนละ ๑๐๐ กหาปณะ (ประมาณ ๔๐๐ บาท)

เพราะไม่ได้ตั้งใจให้เกิด เมื่อเกิดมาแล้วแถมเป็นชายเสียด้วย นางจึงไม่เลี้ยง สั่งให้เอาไปทิ้งที่หน้าประตูวัง เช้าตรู่วันนั้น เจ้าฟ้าอภัยพระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารเสด็จไปพบเข้า จึงนำไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งชื่อให้ว่าชีวกโกมารภัจจ์ แปลว่า ผู้ยังมีชีวิตรอดมาได้ ตอนเป็นเด็ก

ชีวกเป็นคนฉลาดมีปฎิภาณเฉียบคม ถูกเด็ก ๆ ในวังด่าเสียดสีว่าเป็นลูกไม่มีพ่อ จึงมีมานะจะเอาชนะหาความรู้ใส่ตัวให้ใครดูถูกไม่ได้ จึงหนีไปกับกองคาราวานไปยังเมืองตักกสิลา ฝากตัวเป็นศิษย์เรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ทิศาปราโมกข์ เรียนอยู่ ๗ ปีก็จบ ลาอาจารย์กลับบ้านเกิดเมืองนอน

อาจารย์ให้เสบียงมานิดหน่อยหมดระหว่างทาง จึงต้องใช้วิชาความรู้ที่เรียนมารักษาโรคปวดหัวของภรรยาเศรษฐีเมืองสาเกต ที่เป็นมา ๗ ปีแล้ว รักษาหมอที่ไหนก็ไม่หายสักที สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการปรุงยาขนานเดียว ได้รับรางวัล ๔,๐๐๐ กหาปณะ

เมื่อกลับถึงเมืองราชคฤห์แล้วได้มีโอกาสรักษาโรคภคันทบาพาธ (โรคริดสีดวงทวาร) ของพระเจ้าพิมพิสารจนหายขาด พระเจ้าพิมพิสารจึงแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำพระราชสำนัก ได้พระราชทานบำเหน็จจำนวนมาก รวมทั้งสวนมะม่วงด้วย

ได้ผ่าตัดเนื้องอกในลำไส้ของบุตรเศรษฐีชาวเมืองพาราณสี คนหนึ่งให้หายขาดจากโรคร้ายได้ แล้วได้ผ่าตัดสมองเศรษฐีชาวเมืองราชคฤห์คนหนึ่งจนอาการโรคปวดหัวหายขาด

จากนั้นมาชื่อเสียงเกียรติคุณของหมอชีวกก็แพร่สะพัดไปทั่วเมืองว่าเป็นหมอเทวดา ชื่อเสียงได้ฟุ้งขจรไปยังต่างแดน ถึงเมืองอุชเชนีแคว้นอวันตีซึ่งอยู่ห่างไกล พระเจ้าจัณฑปัชโชต กษัตริย์ผู้ดุร้ายประชวรด้วยโรคปวดพระเศียรข้างเดียวมาเป็นเวลานาน ๗ ปีแล้ว จึงส่งราชฑูตมาขอจากพระเจ้าพิมพิสารให้ไปรักษา หมอชีวกถวายการรักษาจนหายแต่ก็เกือบถูกประหารชีวิตเพราะพระองค์ไม่ชอบเนยใส หมอชีวกปรุงยาใส่เนยใส ถึงกับสั่งคนตามล่าหาว่าหมอชีวกแกล้ง แต่หมอชีวกก็เอาชีวิตรอดกลับมาได้ด้วยปัญญาของตน

เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตหายประชวรแล้วทรงสำนึกในบุญคุณหมอชีวกจึงทรงส่งผ้ากัมพลหรือผ้าแพรเนื้อละเอียดอย่างดีสองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวก

หมอชีวกได้นำผ้าสองผืนนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า จนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับผ้าสำเร็จทำชาวบ้านถวายได้แต่บันนั้นมาทำให้คหบดี และชาวเมืองต่างดีใจพากันนำจีวรมาถวายพระเป็นจำนวนมาก

ในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมื่อบำเพ็ญพุทธกิจตลอดทั้งวัน ทรงมีเวลาพักผ่อนน้อย พุทธกิจ ๕ ประการคือ
๑.เวลาเช้ามืด ทรงตรวจดูอุปนิสัยสัตว์โลกที่ควรโปรด
๒.เช้า เสด็จออกบิณฑบาต หรือโปรดสัตว์
๓.เวลาเย็น ทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พุทธบริษัท
๔.เวลาค่ำ ทรงให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์
๕.เวลาดึก ทรงแก้ปัญหาเทวดา

พระวรกายของพระองค์จึงเกิดหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ท้องผูกอย่างร้ายแรงเนื่องจากนั่งนาน พระอานนท์จึงไปหาหมอชีวกแจ้งพระอาการของพระพุทธเจ้าให้ทราบ หมอชีวกได้ไปถวายยาถ่าย พระวรกายของพระพุทธองค์ได้กลับเป็นปกติดังเดิม และได้ถวายตัวเป็นแพทย์ประจำพระองค์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา พร้อมทั้งถวายสวนมะม่วงให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าอีกด้วย

หมอชีวกได้ถวายการรักษาพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ถูกพระเทวทัตรอบทำร้าย กลิ้งหินบนยอดเขาคิชฌกูฏหมายจะให้ทับพระองค์ให้สิ้นพระชนม์ แต่ก็ทำได้แค่ทำให้พระบาทของพระพุทธองค์มีพระโลหิตห้อเท่านั้นหมอชีวกได้ถวายการรักษาที่สวนมะม่วงนั้น

หมอชีวกตลอดชีวิตท่านยุ่งอยู่กับการรักษาโรคคนทั้งเมืองไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ท่านก็เป็นพระโสดาบัน ได้ใช้วิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาบำเพ็ญประโยชน์แก่ชนหมู่มาก ช่วยเหลือผู้เจ็บไข้ไม่เลือกยากดีมีจน จนได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในด้านเป็นที่รักของปวงชน คนเช่นนี้ชื่อว่าไม่เสียชาติเกิดโดยแท้ และเราควรเอาเยี่ยงอย่างเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา : ชาดกและประวัติพุทธสาวก-พุทธสาวิกา โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม


   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย