เมื่อโรคระงับแล้ว ยาก็หมดอายุไปตามกัน (อสังขตธรรม) : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

 จำปาพร    3 ต.ค. 2558

พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

นี่ใน “สติปัฏฐาน” พระพุทธเจ้าทรงสอนให้
เจริญ “ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน”เป็นอารมณ์
ก็เพ่งพิจารณาธรรมที่เป็นกุศล เป็นอกุศล
ธรรมที่ไม่ใช่บาปไม่ใช่บุญหมู่นี้ ล้วนแต่สักว่าธรรม
ไม่ใช่สัตว์ตัวตนบุคคลเราเขา อันนี้มันเป็นขั้นละเอียดเข้าไปแล้ว

แม้แต่ธรรมที่เป็นกุศลก็ทรงสอนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น
ไม่ใช่เฉพาะจะปล่อยวางธรรมที่เป็นอกุศลอย่างเดียว
แม้ธรรมที่เป็นกุศลก็ไม่ให้ยึดถือ เพราะยึดถือไว้ได้ก็ไม่เป็นแก่นเป็นสาร
มันก็มีเกิดมีดับไปอยู่อย่างนั้นมันไม่มีอะไรที่จะยั่งยืนอยู่ได้

ไอ้ที่เราบำเพ็ญกุศลให้เกิดมีขึ้นนี้เพื่อชำระอกุศล
ให้หมดไปสิ้นไป เมื่ออกุศลดับไป กุศลก็ดับไปตามกัน
เหมือนอย่างยาบำบัดโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายคนเรา
เมื่อรับทานยาเข้าไป ยามันไปทำหน้าที่
ขจัดโรคออกไปจากร่างกายอันนี้
เมื่อโรคนี้ระงับไป ยาก็หมดอายุไปตามกัน
เออ เป็นอย่างนั้นหมดอายุไปตามกันแหละยานั่นน่ะ

อันนี้ฉันใดก็เหมือนกันแหละ ธรรมที่เป็นกุศล
เช่นกล่าวโดยรวบยอดว่า “มรรคมีองค์ ๘ ประการ”
หรือ “ศีล สมาธิ ปัญญา” นี้นะ เมื่อบำเพ็ญให้เกิดให้มีขึ้นแล้ว
มันก็ทำหน้าที่ของศีล สมาธิ ปัญญา เองน่ะ
คือ ทำหน้าที่ขจัดกิเลสความโลภ ความโกรธ ความหลง
มานะทิฏฐิ อิจฉาพยาบาทอะไรต่ออะไรให้ระงับดับไปจากจิตใจนี้
นั่นแหละแล้วเมื่อกิเลสเหล่านั้นระงับไป
ศีล สมาธิ ปัญญา อันหมู่นี้มันก็ระงับไปตามกัน

อ้าวเมื่อมันระงับไปแล้วจะไปอาศัยอะไรเล่าบัดนี้?

ก็ธรรมเหล่านี้พระพุทธเจ้าตรัสฯ เมื่อมันหมดเหตุปัจจัยแล้วมันก็ดับไป
เมื่อ “อริยมรรค” ทำหน้าที่ขจัดกิเลสตัณหาให้ระงับดับลงไปแล้ว
มันก็ยังเหลืออยู่ “อมตธรรม” เป็นธรรมอันไม่มีเหตุไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง
นั่นท่านเรียกว่า “อสังขตธรรม” นั่นแหละ
อสังขตธรรมนี้เป็นธรรมไม่เคลื่อนไหว ไม่มีโยกย้าย
ไม่มีเกิดไม่มีดับ นั้นแหละเมื่อธรรมที่มีเหตุปัจจัยเหล่านั้น
ดับไปหมดแล้ว มันก็ยังเหลืออยู่ที่ “อสังขตธรรม”นั้นแหละ

อสังขตธรรมนี่ถ้าหากว่าโดยสมมติให้เข้าใจกันง่ายๆ
มันก็ได้แก่ ดวงจิตที่ละกิเลสแล้วมันตั้งมั่นอยู่โดยลำพัง
ไม่ได้อิงอาศัยธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อะไร นี่มันตั้งอยู่โดยลำพังเลย
เพราะฉะนั้นเมื่อธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ มันวิบัติแปรปรวนไป
จิตนี้มันถึงได้ไม่แปรปรวนไปตาม
เพราะมันไม่ได้อาศัยยึดมั่นอยู่ในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อันนั้น
เหตุนั้นมันถึงได้ไม่แปรปรวนไปตาม

จิตดวงใดที่ยึดมั่นในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเป็นตนอยู่
ด้วยความยินดียินร้ายอย่างนี้นะ พอธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ นั้นมันวิบัติ
แปรปรวนไปจิตนี้มันก็แปรไปตาม หวั่นไหวไปตาม
ก็เป็นทุกข์ไปตาม นั่นเรียกว่า เป็นทุกข์ทั้งร่างกายเป็นทุกข์ทั้งจิตใจด้วย   



DT017019

จำปาพร

3 ต.ค. 2558
 เปิดอ่านหน้านี้  5317 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย