พระยโสชเถระ

ประวัติ / พระยโสชเถระ

   ท่านพระยโสชะ เกิดในตระกูลชาวประมงในพระนครสาวัตถี บิดาของท่านเป็นหัวหน้าชาวประมง ๕๐๐ ตระกูล เดิมชื่อว่า "ยโสชะ" วันที่ท่านคลอดจากครรภ์มารดานั้น ภรรยาชาวประมงทั้ง ๕๐๐ คน ก็คลอดลูกออกมาพร้อมกันเป็นชายทั้งหมด ใช่แต่เท่านั้น วันที่ปฏิสนธิ ลงสู่ครรภ์มารดา ก็ปฏิสนธิพร้อมกันด้วย

    เหตุนั้นเมื่อบิดาของยโสชะทราบข่าวนั้น จึงใช้เครื่องบำรุงเลี้ยงมีค่าน้ำนมเป็นต้นแก่เด็กเหล่านั้น ด้วยคิดว่าต่อไปจะได้เป็นเพื่อนกับลูกชายของตน เด็กเหล่านั้นทั้งหมดจึงเป็นเพื่อนเล่นฝุ่นมาด้วยกัน เจริญเติบโตขึ้นโดยลำดับ ยโสชะได้เป็นผู้เหนือกว่าเด็กเหล่านั้นโดยยศและโดยเดช เมื่อเจริญวัยแล้วได้เป็นสหายจับปลาด้วยกัน และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

     วันหนึ่งคนเหล่านั้นพากันถือแหไปจับปลา พากันทอดแหในแม่น้ำอจิรวดี ได้ปลาใหญ่ตัวหนึ่งเป็นปลาทองแต่มีกลิ่นปากเหม็น เมื่อชาวประมงทั้งหมดได้เห็นเช่นนั้นก็พากันส่งเสียงร้องด้วยความดีใจ หารือกันว่าบุตรของพวกเราจับได้ปลาทองตัวใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินคงจะโปรดปรานพระราชทานรางวัลให้

    ชาวประมงเหล่านั้นทั้งหมดจึงจับปลาใส่ในเรือ นำไปถวายพระเจ้าแผ่นดินเพื่อให้ทอดพระเนตร พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรแล้วทรงดำริว่า พระพุทธเจ้าคงจะทรงทราบเหตุที่ปลานี้เป็นทอง จึงรับสั่งให้คนหามปลานั้นเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พอถึงที่เฝ้าแล้วปลานั้นก็อ้าปาก ส่งกลิ่นเหม็นตลบทั่วพระนคร

    พระบรมศาสดาจึงทรงรับสั่งว่า ปลานี้เมื่อก่อนเคยเป็นภิกษุชื่อว่า กบิล เป็นพหูสูตมีบริวารมาก แต่ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้นรับสั่งดังนั้นแล้วจึงตรัสกปิลสูตร

     ในเวลาจบเทศนา ลูกชาวประมง ๕๐๐ คน ซึ่งมียโสชะเป็นหัวหน้าเกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอบรรพชาอุปสมบทกับพระบรมศาสดา ครั้นอุปสมบทแล้วก็หลีกไปอยู่ที่เงียบสงัดเพื่อบำเพ็ญสมณธรรม

     ครั้งหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่พระเขตวันมหาวิหาร ในพระนครสาวัตถี ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป มีท่านพระยโสชะเป็นหัวหน้าพากันมาเฝ้าพระองค์ ครั้นถึงแล้วได้คุยกันกับพวกภิกษุเจ้าถิ่นด้วยเสียงอันดังจนได้ยินถึงกระกรรณ

    พระองค์ทรงรับสั่งถามพระอานนท์ว่า ภิกษุพวกไหนนั่นมาคุยกันเสียงดังลั่นเหมือนชาวประมงแย่งปลากัน

    พระอานนท์กราบทูลให้ทรงทราบแล้วรับสั่งให้เรียกภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้าตรัสถามอีก ท่านพระยโสชะกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ทรงขับไล่ไม่ให้อยู่ในสำนักของพระองค์

    พวกภิกษุเหล่านั้นพากันถวายบังคมกระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เที่ยวจาริกไปโดยลำดับบรรลุถึงฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา เขตแดนเมืองเวสาลี พากันทำกุฎีบังด้วยใบไม้เข้าพรรษา ณ ที่นั้น เป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผลพร้อมกันทั้งหมดภายในพรรษานั้น

    ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จจาริกมายังกรุงเวสาลี ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ทรงทราบว่าภิกษุเหล่านั้นได้สำเร็จพระอรหันต์แล้ว จึงรับสั่งให้พระอานนท์ไปเรียกมาเฝ้า

    ครั้นมาถึงที่เฝ้าแล้วภิกษุเหล่านั้นได้เห็นพระองค์นั่งเข้าอเนญชาสมาธิ เมื่อทราบเช่นนั้นจึงพากันนั่งเข้า อเนญชาสมาธิตาม

    ส่วนพระอานนท์เห็นพระบรมศาสดาประทับนิ่งอยู่ จึงทูลเตือนถึงสามครั้งว่า ภิกษุอาคันตุกะมานั่งอยู่นานแล้ว จึงตรัสบอกว่า อานนท์ ฉันและภิกษุอาคันตุกะ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ นั่งเข้าอเนญชาสมาธิอยู่

     ท่านพระยโสชะนั้น นับเข้าในพระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่ง เมื่อดำรงอายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ด็ดับขันธปรินิพพาน



   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย