พระสารีบุตรเถระ

ประวัติ / พระสารีบุตรเถระ

   ท่านพระสารีบุตรเถระ เดิมชื่อว่า อุปติสสะ บิดาชื่อว่าวังคันตะพราหมณ์ มารดาชื่อว่านางสารีพราหมณี บิดาเป็นนายบ้านตำบลนาลกะหรือนาลันทา เพราะเป็นบุตรของนางสารีจึงได้นามว่า สารีบุตร ท่านเกิดในตำบลบ้านนาลกะหรือนาลันทา ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์

    เมื่อท่านเข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยแล้ว เพื่อนสพรหมจารี (ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน ในที่นี้หมายเอาภิกษุ) พากันเรียกท่านว่า พระสารีบุตร ทั้งนั้น

    ตระกูลพราหมณ์ของบิดาอุปติสสมาณพ เป็นตระกูลที่ร่ำรวย สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติและบริวาร เมื่ออุปติสสมาณพเจริญวัยแล้วได้เล่าเรียนศิลปศาสตร์ มีปัญญาเฉียบแหลมเล่าเรียนได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็ว และได้เป็นเพื่อน ที่ชอบพอรักใคร่กันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และเป็นบุตรแห่งตระกูลที่ร่ำรวยเหมือนกัน เพราะว่าตระกูลทั้งสองนั้นเป็นเพื่อนกัน มีการติดต่อผูกพันกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

     อุปติสสมาณพและโกลิตมาณพ ได้ไปเที่ยวดูเขาเล่นมหรสพในกรุงราชคฤห์ด้วยกันเป็นประจำ ขณะกำลังชมดูอยู่นั้นก็เกิดความร่าเริงในเวลาถึงบทสนุก เกิดความสลดใจ ในเวลาถึงบทเศร้า ถึงตอนชอบใจก็ให้รางวัลนักแสดงด้วย วันหนึ่งมาณพ ๒ สหายนั้นชวนกันไปดูมหรสพเหมือนวันก่อน ๆ แต่ว่าไม่เกิดความสนุกสนานร่าเริงอะไรเลย คนที่กำลังแสดงอยู่นั้นอีกไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็จะต้องตายกันไปหมด

    เมื่อมีความคิดตรงกันอย่างนั้น จึงได้พากันไปบวชเป็นลูกศิษย์ในสำนักของสัญชัยปริพาชก และได้เรียนความรู้จากอาจารย์จนหมดสิ้น จนอาจารย์ได้ให้ช่วยสั่งสอนศิษย์คนอื่นในสำนักนั้นด้วย แต่สองสหายนั้นยังไม่พอใจกับความรู้เพียงนั้น จึงได้ตกลงทำกติกานัดหมายกันว่าจะออกแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมเครื่องหลุดพ้น จากกิเลสต่าง ๆ อันได้แก่พระนิพพานอีกต่อไป และถ้าใครพบโมกขธรรมก่อนขอให้กลับมาบอกแก่กัน

     สมัยนั้น พระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว และได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนมหาชนยังสถานที่ต่าง ๆ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์และประทับอยู่ที่พระมหาเวฬุวันมหาวิหาร

    วันหนึ่งท่านพระอัสสชิผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ ผู้ที่พระบรมศาสดาทรงส่งออกไปประกาศพระศาสนา ได้กลับมาเฝ้า ในตอนเช้าท่านก็ได้เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ อุปติสสปริพาชกเดินไปพบท่านในระหว่างทางก็เกิดความเลื่อมใสในจริยาวัตรของท่าน และได้ถามถึงครูอาจารย์พร้อมกับขอร้องให้แสดงธรรมให้ฟังด้วย

    ท่านพระอัสสชิได้แสดงธรรมมีใจความย่อ ๆ ว่า "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุและความดับแห่งธรรมนั้น พระศาสดาทรงสั่งสอนอย่างนี้" อุปติสสปริพาชกได้ฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรมคือบรรลุโสดาบัน แล้วกลับไปบอกข่าวเพื่อนโกลิตะ และแสดงธรรมให้ฟังตามที่ได้ฟังมาจนโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรม เหมือนกัน จึงชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา

    ครั้นไปลาอาจารย์สัญชัยแล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ทั้งสองคน ครั้นบวชแล้วภิกษุทั้งหลายพากันเรียกท่านว่า สารีบุตร และ โมคคัลลานะ

     หลังจาก ได้อุปสมบทแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เหมาะแก่อุปนิสัยของพุทธบริษัท พวกภิกษุที่ร่วมฟังธรรมนั้นได้บรรลุพระอรหัตก่อน พระโมคคัลลานะอุปสมบทแล้ว ๗ วัน จึงได้สำเร็จพระอรหันต์ ฝ่ายพระสารีบุตรอุปสมบทแล้ว ๑๕ วัน จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ด้วยการฟังเทศนาชื่อว่า เวทนาปริคคหสูตร ที่สมเด็จพระบรมศาสดาทรงแก่ปริพาชกชื่อว่า ทีฆนขะะ ณ ถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์

    มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระสารีบุตรอุปสมบทได้ ๑๕ วันแล้ว พระบรมศาสดาเสด็จประทับอยู่ที่ถ้ำสุรขาตา เขาคิชฌกูฎ เมืองราชคฤห์ ปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขอัคคิเวสนโคตร เข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลความเห็นของตนว่า "ข้าแต่พระโคตมะ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด" พระบรมศาสดาจึงตรัสตอบว่า "ดูก่อนอัคคิเวสนะ ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านต้องไม่ชอบใจความเห็นอย่างนั้น"

    ครั้นตรัสดังนี้แล้วก็ทรงแสดงทิฏฐิ ๓ อย่าง ให้ปริพาชกนั้นเห็นว่าเป็นโทษ และแนวทางละทิฏฐิ ๓ อย่างนั้น ลำดับนั้นทรงแสดงอุบายเครื่องไม่ยึดมั่นอีกต่อไป ขณะนั้นพระสารีบุตรนั่งถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ (หลัง) ของพระบรมศาสดา ได้ฟังพระธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากอาสวะ ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปทาน ส่วนทีฆนขปริพาชกได้เพียงดวงตาเห็นธรรม หมดสิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา แล้วทูลแสดงตนเป็นอุบาสก

     ท่านพระสารีบุตร เมื่อได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ปรากฏว่าท่านเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนา พร้อมกับได้รับตำแหน่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา พระพุทธองค์ทรงยกย่องว่า "เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางมีปัญญามาก" สามารถแสดงพระธรรมจักรและอริยสัจ ๔ ได้กว้างขวางพิสดารเหมือนกับพระพุทธเจ้า

     ท่านพระสารีบุตร ยังมีคุณความดีอีกหลายประการที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง ในที่นี้จะขอกล่าวไว้เฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ 

     ๑. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็นผู้มีความอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ด้วยกัน มีตัวอย่าง เช่น เมื่อครั้งพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ พวกภิกษุพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับทูลลาจะไปชนบท พระองค์ตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เผื่อว่าท่านพระสารีบุตรจะได้แนะนำสั่งสอนในการไปและการประพฤติปฏิบัติตัวในชนบทนั้น จะได้อยู่กันอย่างสำราญ ไม่มีความเดือดร้อนเสียหายอะไรขึ้น 

     ๒. ทรงยกย่องว่าพระสารีบุตรเป็น เป็นคู่กับพระโมคคัลลานะ คือเป็นอัครสาวกฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ตามที่ตรัสตอนหนึ่งว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เพราะเธอเป็นคนมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรชิตทั้งหลาย สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้กำเนิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วน้ัน สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น" เพราะเหตุนี้เองจึงมีคำยกย่อง พระสารีบุตรว่าเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย 

     ๓. มีคำเรียกเพื่อยกย่องว่าพระสารีบุตร อีกอย่างหนึ่งว่า "พระธรรมเสนาบดี" ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า "พระธรรมราชา" 

     ๔. พระสารีบุตรมีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนา คือชี้แจงแสดงให้ผู้ฟังเข้าใจได้ชัดเจน มีตัวอย่าง คือ พระยมกะมีความคิดเห็นว่าพระขีณาสพตายแล้วดับสูญ พวกภิกษุคัดค้านว่า เห็นอย่างนั้นผิด พระยมกะไม่เชื่อ แต่พวกภิกษุไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยชี้แจงแสดงให้ฟัง เธอจึงหายความสงสัยนั้น 

     ๕. พระสารีบุตรเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที ตัวอย่าง เช่น ท่านได้ฟังเทศนาจากพระอัสสชิจนได้บรรลุพระโสดาบันแล้วมาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิ ว่าเป็นอาจารย์ ทำการเคารพกราบไหว้อยู่เสมอ พอทราบว่าพระอัสสชิอยู่ทางทิศใด ท่านก็จะทำการยกมือไหว้และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น อีกเรื่องหนึ่งท่นเป็นผู้ช่วยเหลือให้ราธพราหมณ์ผู้ต้องการจะอุปสมบทในพระธรรมวินัย แต่ไม่มีพระรูปใดยอมบวชให้ จนในที่สุดพระสารีบุตรระลึกถึงอุปการคุณที่ราธพราหมณ์ถวายข้าว ๑ ทัพพี ในสมัยที่เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ จึงช่วยเหลือให้ได้บวชตามความประสงค์

     อนึ่ง ท่านพระสารีบุตร นับได้ว่าเป็นกำลังสำคัญของพระบรมศาสดาในการประกาศพระศาสนาในสถานที่ต่าง ๆ ธรรมภาษิตของท่านจึงมีปรากฏอยู่มากมาย เช่น สังคีติสูตร เป็นต้น ยกเว้นพระพุทธภาษิตแล้ว ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกรูปอื่น ๆ

     พระสารีบุตรนั้น นิพพานก่อนพระบรมศาสดา ก่อนแต่จะนิพพานท่านพิจารณาเห็นว่า สมควรที่จะนิพพานในห้องที่ตนเองคลอดจากท้องมารดา เมื่อคิดเช่นนั้นจึงเข้าไปกราบทูลสมเด็จพระบรมศาสดา แล้วเดินทางไปกับพระจุนทะผู้น้องชายพร้อมด้วยบริวาร

    เมื่อไปถึงบ้านเดิมแล้วก็เกิด ปักขันทิกาพาธ คือ โรคท้องร่วง ขึ้นในคืนนั้น ในเวลาที่ท่านกำลังอาพาธอยู่นั้น ก็ได้เทศนาโปรดมารดาจนได้บรรลุโสดาปัตติผล พอเวลาใกล้รุ่งของคืนเพ็ญเดือน ๑๒ ท่านก็ดับขันธปรินิพพาน พอรุ่งขึ้นพระจุนทะผู้น้องชายก็ได้ร่วมกับญาติทำฌาปนกิจสรีระของท่าน แล้วเก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระบรมศาสดา ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ในเมืองสาวัตถี พระพุทธองค์โปรดให้ก่อเจดีย์ บรรจุอัฐิธาตุของพระเถระไว้ ณ พระเชตวันมหาวิหารนั้น



   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย