สัตบุรุษรู้จัก อรรถ ... ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้จุดมุ่งหมายของการกระทำ และไม่หันเหจากจุดมุ่งหมายนั้น


คำว่า ‘สัปปุริส’ เป็นอีกคำหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงใช้เมื่อกล่าวถึงสัตบุรุษผู้มีปัญญาและคุณธรรม เราใช้สัปปุริสธรรม ๗ ประการเป็นเกณฑ์ในการประเมินผลการศึกษาอบรมตนได้

๑.​ เป็นผู้รู้จัก ‘ธรรม’ ไม่ว่าเป็นการเรียนรู้หรือการปฏิบัติ สัตบุรุษรู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ และรู้กฎแห่งธรรมชาติ เป็นผู้รอบรู้และรู้รอบ รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ๆ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการ รู้หลักการและวิธีการที่จะทำให้บรรลุจุดหมาย

๒.​ เป็นผู้รู้จัก ‘อรรถ’ : สัตบุรุษเป็นผู้รู้ความหมาย รู้ความนัย รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำ รู้ผลลัพธ์ ไม่ว่าจะทำอะไรก็รู้จุดมุ่งหมายของการกระทำ และไม่หันเหจากจุดมุ่งหมายนั้น

๓.​ เป็นผู้รู้จักตน : สัตบุรุษมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในจุดแข็งและจุดอ่อน ความรู้และความสามารถ คุณธรรมและข้อบกพร่องของตน รู้ว่าจะต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นตรงไหนและอย่างไร

๔.​ เป็นผู้รู้จักประมาณ : สัตบุรุษมีความละเอียดอ่อนต่อการประมาณ ‘ความพอดี ไม่มากไป ไม่น้อยไป’ ในทุกสิ่ง ตั้งแต่การบริโภคอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การออกกำลังกาย ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น

๕. เป็นผู้จักกาลเทศะ : สัตบุรุษรู้ว่าควรพูดหรือทำอะไร ไม่ควรพูดหรือไม่ควรทำอะไร เมื่อไหร่และในสถานการณ์เช่นใด ไม่รีบร้อนลุกลนและไม่ปล่อยให้เนิ่นช้า

๖. เป็นผู้รู้จักบริษัท : สัตบุรุษเป็นผู้ช่างสังเกตและมีไหวพริบปฏิภาณในหมู่บริษัทและชุมชนต่างๆ รู้วิธีเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสมและรู้วิธีปรับเปลี่ยนเมื่อจำเป็น

๗. เป็นผู้รู้จักบุคคล : สัตบุรุษเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงในอัธยาศัย ความสามารถ คุณธรรมและข้อบกพร่องของบุคคลรอบตัว รู้วิธีปฏิบัติต่อแต่ละบุคคลอย่างเหมาะสม รู้ว่าควรคบหรือไม่ จะสื่อสารให้ดีที่สุดอย่างไร จะเรียนรู้จากบุคคลนั้นหรือจะแนะนำสั่งสอนบุคคลนั้นอย่างไร

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิทัลฯ

3,089







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย