ถ้าไม่มีสุขแล้วสมาธิก็ยากที่จะเกิด จะเกิดสมาธิได้ต้องมีความสุข



ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าความสุขเป็นเรื่องใหญ่ เป็นที่อาศัยของจริยธรรมที่เราพูดกันนี้ คือพฤติกรรมต้องอาศัยความสุขด้วย เราจึงไม่พูดแยกกัน อย่างในเรื่องของการกระทำที่เราเรียกว่าปฏิบัติธรรม ซึ่งภาษาสมัยนี้พูดแคบเข้ามาแล้ว ถ้าเราจะปฏิบัติให้เกิดสมาธิ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ท่านบอกว่าสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขแล้วสมาธิก็ยากที่จะเกิด จะเกิดสมาธิได้ต้องมีความสุข

สภาพจิตที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอในกระบวนการปฏิบัติให้เกิดสมาธิและปัญญาคือ ปราโมทย์ ความเบิกบานใจ แล้วก็มี ปีติ ความอิ่มใจ ปัสสัทธิ ความสงบเย็นผ่อนคลายกายใจแล้วก็สุข พอสุขแล้วสมาธิก็ตามมา พอสมาธิมาก็ทำให้จิตได้ดุลยภาพเหมาะแก่การใช้งาน พอใช้งานจะใช้ไปทางไหนดี ก็ใช้ทางปัญญา เพราะฉะนั้นในวงการพระพุทธศาสนาจะพูดถึงศัพท์ที่แสดงความสัมพันธ์ในเรื่องเหล่านี้ ขอใช้คำบาลีเลยว่า สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ แปลว่า ผู้เป็นสุขจิตย่อมเป็นสมาธิ จากนั้น สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ผู้มีจิตเป็นสมาธิย่อมเกิดปัญญารู้ชัดตามที่มันเป็น หมายความว่ามันเป็นองค์ประกอบที่เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แยกกันไม่ได้

หนังสือ จิตวิทยาเพื่อการพัฒนาคน ตามแนวธรรมชาติ
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
หน้า ๙ – ๑๐

3,145







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย