ความสุขสูงขึ้นไป คือการหมดหรือหยุดเสียซึ่งความหิว


ความต่างกันระหว่างสัตว์–คน–มนุษย์เกี่ยวกับความหิว

ทีนี้ ก็อยากจะเปรียบเทียบให้เห็นชัดยิ่งขึ้นไปโดยง่าย ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า จะต่างกันในรูปแบบไหนบ้าง. ความต่างกันที่เห็นได้ชัด และขอร้องให้มองเป็นพิเศษ ข้อนี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ความหิว

ความหิว ใคร ๆ ก็รู้จักความหิว: ความหิวทางกาย กินและอิ่มแล้วก็หาย; แต่ความหิวทางจิตนั่นแหละมันมีปัญหา ความหิวทรมานจิตใจอย่างยิ่ง แม้ทางกายกินอิ่มแล้ว ทางจิตมันยังไม่รู้จักอิ่ม มันก็ยังหิวทางจิต นี่รู้จักความหิวกันให้ดี ๆ ในฐานะเป็นข้าศึกศัตรูตัวร้าย

ทีนี้ มา ดูเรื่องความหิว ของคนและสัตว์ คนและสัตว์มุ่งความสุขอยู่ที่การสนองเหยื่อให้แก่ความหิว การสนองเหยื่อให้แก่ความหิวของกิเลสนั่นแหละ เป็นความสุขของคนและสัตว์

ให้ความหิวทางกายระงับไป ให้ความเป็นเหยื่อแก่กิเลสให้มากขึ้นด้วยความฟุ่มเฟือย สนุกสนาน เพลิดเพลิน มัวเมา นี้เป็นความสุขของคน ของคนเท่านั้น ไม่ใช่มนุษย์

ส่วนมนุษย์รู้จักมุ่งหมายความสุขสูงขึ้นไป คือการหมดหรือหยุดเสียซึ่งความหิว รู้จักทำจิตใจให้หยุดเสีย ซึ่งความหิวทั้งทางกายและทั้งทางจิต ทำได้จริงถึงที่สุดก็เป็นพระอรหันต์ คือยอดของมนุษย์ ทำลายความหิวความอยากเสียได้โดยประการทั้งปวง ไม่หิวอะไร ก็คือไม่ต้องการอะไร มันต่างกันอย่างนี้

ชั้นต่ำสุด ต้องสนองเหยื่อให้แก่ความหิว และถือเอาเป็นความสุขในการสนองเหยื่อให้แก่ความหิว ชั้นสูงนั้น หยุดความหิวเสียโดยประการทั้งปวง ไม่ต้องสนองเหยื่อไม่ต้องสนองอะไร เป็นไปตามธรรมชาติล้วน ๆ ไม่มีกิเลส ไม่มีที่จะต้องสนองด้วยอะไร นี่มันต่างกันมากมายอย่างตรงกันข้าม หรือยิ่งกว่าตรงกันข้ามในลักษณะอย่างนี้

สรุปสั้น ๆ ว่า คน มีความสุขด้วยการหาเหยื่อมาเลี้ยงความหิว หรือเลี้ยงกิเลส เรียกว่า สนองความหิว มนุษย์ เริ่มมาเข้าขั้นว่า เราจะหยุดเสียซึ่งความหิว จะทำใจให้รู้จักหยุดเสียซึ่งความหิว ทำงานด้วยสติปัญญา บริโภคด้วยสติปัญญา, อย่าให้ความหิวของกิเลสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลย โดยประการทั้งปวง

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา: ธรรมบรรยาย เรื่อง เกิดเป็นคนทั้งที อย่าต้องตกนรกไปพลาง ทำงานไปพลาง

3,131







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย