พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สหธรรมิก - สอุปาทิเสสนิพพาน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สหธรรมิก - สอุปาทิเสสนิพพาน

สหธรรมิก ผู้มีธรรมร่วมกัน, ผู้ประพฤติธรรมร่วมกัน แสดงไว้ในคัมภีร์มหานิทเทส แห่งพระสุตตันตปิฎก มี ๗ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา; ในสัตตาหกรณียะ หมายถึง ๕ อย่างแรก เท่านั้น เรียกว่า สหธรรมิก ๕ (คัมภีร์ฝ่ายวินัยทั่วไปก็มักหมายเฉพาะจำนวน ๕)

สหธรรมิกวรรค ตอนที่ว่าด้วยเรื่องภิกษุถูกว่ากล่าวโดยชอบธรรม เป็นต้น เป็นวรรคที่ ๘ แห่งปาจิตติยกัณฑ์ มี ๑๒ สิกขาบท

สหรคต ไปด้วยกัน, กำกับกัน, ร่วมกัน

สหวาส อยู่ร่วม เป็นประการหนึ่งในรัตติเฉท คือเหตุขาดราตรีแห่งการประพฤติมานัตและการอยู่ปริวาสหมายถึง การอยู่ร่วมในชายคาเดียวกับปกตัตตภิกษุ ดู รัตติเฉท

สหเสยยสิกขาบท สิกขาบทเกี่ยวกับการนอนร่วมมี ๒ ข้อ ข้อหนึ่งปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วมกับอนุปสัมบันเกิน ๒-๓ คืน อีกข้อหนึ่ง ปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้นอนร่วม (คือนอนในที่มุงที่บังเดียวกัน) กับหญิงแม้ในคืนแรก (ข้อ ๕ และ ๖ ในมุสาวาทวรรค ปาจิตติยกัณฑ์)

สหไสย การนอนด้วยกัน, การนอนร่วม

สหัมบดี ชื่อพระพรหมผู้อาราธนาพระพุทธเจ้าให้แสดงธรรมโปรดสัตว์

สหาย เพื่อน, เพื่อนร่วมการงาน (แปลตามศัพท์ว่า ผู้ไปด้วยในกิจทั้งหลายหรือผู้มีความเสื่อมและความเจริญร่วมกัน)

สองต่อสอง สองคนโดยเฉพาะ ไม่มีผู้อื่นอยู่ด้วย, ตัวต่อตัว

ส่อเสียด ยุให้แตกกัน คือฟังคำของข้างนี้แล้ว เก็บเอาไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายข้างนี้ ฟังคำของข้างโน้นแล้วเก็บเอามาบอกข้างนี้ เพื่อทำลายข้างโน้น ดู ปิสุณาวาจา

สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานยังมีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสแต่ยังมีเบญจขันธ์เหลือ คือนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่, นิพพานในแง่ที่เป็นภาวะดับกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ; เทียบ อนุปาทิเสสนิพพาน




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย