พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วันอุโบสถ - วารี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วันอุโบสถ - วารี

วันอุโบสถ ดู อุโบสถ

วัปปะ ชื่อภิกษุรูปหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ เป็นพระอรหันต์รุ่นแรก

วัปปมงคล พิธีแรกนาขวัญ คือพิธีเริ่มไถนาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าวในนา

วัย ส่วนแห่งอายุ, ระยะของอายุ, เขตอายุ นิยมแบ่งเป็น ๓ วัย คัมภีร์วิสุทธิมรรคจัดดังนี้
๑. ปฐมวัย วัยต้น ๓๓ ปี คือ อายุ ๑ ปี ถึง ๓๓ ปี
๒. มัชฌิมวัย วัยกลาง ๓๔ ปี คือ อายุ ๓๔ ถึง ๖๗ ปี
๓. ปัจฉิมวัย วัยปลาย ๖๘ ปี คือ อายุ ๖๘ ถึง ๑๐๐ ปี

วัสวดี ชื่อของพระยามาร ดู วสวัตดี

วัสสานะ, วัสสานฤดู ฤดูฝน ดู มาตรา

วัสสาวาสิกพัสตร์ ดู ผ้าจำนำพรรษา

วัสสิกสาฎก ดู ผ้าอาบน้ำฝน

วัสสิกสาฏิกา ดู ผ้าอาบน้ำฝน

วัสสูปนายิกา วันเข้าพรรษา ดู จำพรรษา

วางไว้ทำร้าย ได้แก่ วางขวาก ฝังหลาว ไว้ในหลุมพราง วางของหนักไว้ให้ตกทับ วางยาพิษ เป็นต้น

วาจา คำพูด, ถ้อยคำ

วาจาชอบ ดู สัมมาวาจา

วาจาชั่วหยาบ ในวินัยหมายถึงถ้อยคำพาดพิงทวารหนักทวารเบาและเมถุน ดู ทุฏฐุลลวาจา

วาชเปยะ, วาชไปยะ“วาจาดูดดื่มใจ”, น้ำคำควรดื่ม”, ความรู้จักพูดคือ รู้จักทักทายปราศรัย มีถ้อยคำสุภาพนุ่มนวล ประกอบด้วยเหตุผล มีประโยชน์ เป็นทางแห่งสามัคคี ทำให้เกิดความเข้าใจอันดี ความเชื่อถือและความนิยมนับถือ (ข้อ ๔ ในราชสังคหวัตถุ ๔)

วาตสมุฏฐานา อาพาธา ความเจ็บไข้ที่มีลมเป็นสมุฏฐาน

วานปรัสถ์ ผู้อยู่ป่า, เป็นธรรมเนียมของพราหมณ์ว่าผู้ที่ครองเรือน มีครอบครัวเป็นหลักฐาน ครั้นลูกหลานเติบโตก็จัดแจงให้มีครอบครัว ตนเองชราลงก็มุ่งแสวงบุญกุศล เข้าป่าจำศีลถือพรตบำเพ็ญตบะต่อไป
ดู อาศรม

วาโยธาตุ ธาตุลม คือ ธาตุที่มีลักษณะพัดไปมา, ภาวะสั่นไหว เคร่งตึง ค้ำจุน; ในร่างกายนี้ ส่วนที่ใช้กำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐาน ได้แก่ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้องลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ (ตามสภาวะ วาโยธาตุ คือสภาพสั่นไหว หรือค้ำจุน) ดู ธาตุ

วาร วันหนึ่ง ๆ ในสัปดาห์, ครั้ง, เวลากำหนด

วาระ ครั้งคราว, เวลาที่กำหนดสำหรับผลัดเปลี่ยน

วารี น้ำ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย