พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด วงศกุล - วทัญญู

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


วงศกุล - วทัญญู

วงศกุล วงศ์และตระกูล

วจนะ คำพูด; สิ่งที่บ่งจำนวนนามทางไวยากรณ์ เช่น บาลีมี ๒ วจนะ คือ เอกวจนะ บ่งนามจำนวนเพียงหนึ่ง และ พหุวจนะ บ่งนามจำนวนตั้งแต่สองขึ้นไป

วจีกรรม การกระทำทางวาจา, การกระทำด้วยวาจา, ทำกรรมด้วยคำพูด, ที่ดี เช่น พูดจริง พูดคำสุภาพ ที่ชั่ว เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ ดู กุศลกรรมบถ, อกุศลกรรมบถ

วจีทวาร ทวารคือวาจา, ทางวาจา, ทางคำพูด (ข้อ ๒ ในทวาร ๓)

วจีทุจริต ประพฤติชั่วด้วยวาจา, ประพฤติชั่วทางวาจามี ๔ อย่างคือ ๑. มุสาวาท พูดเท็จ ๒. ปิสุณาวาจา พูดส่อเสียด ๓. ผรุสวาจา พูดคำหยาบ ๔. สัมผัปปลาป พูดเพ้อเจ้อ ดู ทุจริต

วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา ได้แก่ การพูด การกล่าวถ้อยคำ

วจีสมาจาร ความประพฤติทางวาจา

วจีสังขาร
1. ปัจจัยปรุงแต่งวาจา ได้แก่ วิตก (ตรึก) และ วิจาร (ตรอง) ถ้าไม่มีตรึกตรองก่อนแล้วพูดย่อมไม่รู้เรื่อง
2. สภาพที่ปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วจีสัญเจตนา คือความจงใจทางวาจา ที่ก่อให้เกิดวจีกรรม ดู สังขาร

วจีสุจริต ประพฤติชอบด้วยวาจา, ประพฤติชอบทางวาจา มี ๔ อย่างคือ เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ ดู สุจริต เทียบ วจีทุจริต

วณิพก คนขอทานโดยร้องเพลงขอ คือขับร้องพรรณนาคุณแห่งการให้ทานและสรรเสริญผู้ให้ทาน ที่เรียกว่าเพลงขอทาน

วทัญญู ผู้รู้ถ้อยคำ คือ ใจดี เอื้ออารี ยอมรับฟังความทุกข์ยากเดือดร้อน และความต้องการของผู้อื่น เข้าใจคำพูดของเขาได้ดี




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย