พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด นันทกะ - นาคเสน

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


นันทกะ - นาคเสน

นันทกะ พระเถระมหาสาวกองค์หนึ่งเกิดในตระกูลผู้ดีมีฐานะในพระนครสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีความเลื่อมใส ขอบวชเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ได้สำเร็จพระอรหัต ท่านมีความสามารถในการแสดงธรรมจนเป็นที่เลื่องลือ ครั้งหนึ่งท่านแสดงธรรมแก่นางภิกษุณีปรากฏว่านางภิกษุณีได้สำเร็จพระอรหัตถึง ๕๐๐ องค์ ท่าน ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางให้โอวาทแก่นางภิกษุณี

นันทกุมาร พระราชบุตรของพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางปชาบดีโคตมีต่อมาออกบวชมีชื่อว่าพระนันทะ คือองค์ที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายพระพุทธองค์นั่นเอง

นันทมาณพ ศิษย์คนหนึ่งในจำนวน ๑๖ คน ของพราหมณ์พาวรี ที่ไปทูลถามปัญหากะพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์

นันทมารดา ชื่ออุบาสิกาคนหนึ่งเป็นอนาคามี เป็นผู้ชำนาญในฌาน ๔ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะทางบำเพ็ญฌาน ชื่อเต็มว่า อุตตรา นันทมารดา

นันทาเถรี ชื่อภิกษุณี ผู้เป็นพระน้องนางของพระเจ้ากาลาโศก

นัย อุบาย, อาการ, วิธี, ข้อสำคัญ, เค้าความ, เค้าเงื่อน, แง่ความหมาย

นัยนา ดวงตา

นาค งูใหญ่ในนิกาย; ช้าง; ผู้ประเสริฐ; ใช้เป็นคำเรียกคนที่กำลังจะบวชด้วย

นาคเสน พระอรหันตเถระผู้โต้วาทะชนะพระยามิลินท์ กษัตริย์แห่งสาคลประเทศ ดังมีคำโต้ตอบปัญหามาในคัมภีร์มิลินทปัญหา ท่านเกิดหลังพุทธกาลประมาณ ๔๐๐ ปี ที่หมู่บ้านกชังคละในหิมวันตประเทศ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อโสณุตตระ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระเวทและต่อมาได้อุปสมบท โดยมีพระโรหณะเป็นพระอุปัชฌาย์; ดู มิลินท์, มิลินทปัญหา




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย