พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด โลกธรรม - โลกาธิปไตย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


โลกธรรม - โลกาธิปไตย

โลกธรรม ธรรมที่มีประจำโลก, ธรรมดาของโลก, ธรรมที่ครอบงำสัตวโลก และสัตวโลกก็เป็นไปตามมัน มี ๘ อย่าง คือ มีลาภ ไม่มีลาภ มียศ ไม่มียศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์

โลกธาตุ แผ่นดิน; จักวาลหนึ่งๆ

โลกนาถ ผู้เป็นที่พึ่งของโลก หมายถึงพระพุทธเจ้า

โลกบาล ผู้คุ้มครองโลก, ผู้เลี้ยงรักษาโลกให้ร่มเย็น, ท้าวโลกบาล ๔ ดู จาตุมหาราช

โลกบาลธรรม ธรรมคุ้มครองโลก คือ ปกครองควบคุมใจมนุษย์ไว้ให้อยู่ในความดี มิให้ละเมิดศีลธรรม และให้อยู่กัน ด้วยความเรียบร้อยสงบสุข ไม่เดือดร้อนสับสนวุ่นวาย มี ๒ คือ ๑. หิริ ความอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว ๒. โอตตัปปะ ความกลัวบาปเกรงกลัวต่อความชั่วและผลของกรรมชั่ว

โลกวัชชะ อาบัติที่เป็นโทษทางโลกคือ คนสามัญที่มิใช่ภิกษุทำเข้าก็เป็นความผิดความเสียหาย เช่น โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน ด่ากัน เป็นต้น; บางทีว่าเป็นข้อเสียหายที่ชาวโลกเขาติเตียน ถือว่าไม่เหมาะสมกับสมณะ เช่น ดื่มสุรา เป็นต้น

โลกวิทู ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรู้แจ้งสภาวะแห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงทราบอัธยาศัยสันดานของสัตวโลกที่เป็นไปต่างๆ ทำให้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจได้ผลดี (ข้อ ๕ ในพุทธคุณ ๙)

โลกัตถจริยา พระพุทธจริยาเพื่อประโยชน์แก่โลก, ทรงประพฤติเป็นประโยชน์แก่โลก คือ ทรงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปประกาศพระศาสนาเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนในถิ่นฐานแว่นแคว้นต่างๆ เป็นอันมาก และประดิษฐานพระศาสนาไว้เพื่อประโยชน์สุขแก่ชุมชนภายหลังตลอดกาลนาน ดู พุทธจริยา

โลกาธิปเตยยะ ดู โลกาธิปไตย

โลกาธิปไตย ความถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมหรือเสียงกล่าวว่าของชาวโลกเป็นสำคัญ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ จะทำอะไรก็มุ่งจะเอาใจหมู่ชน หาความนิยม ทำตามที่เขานิยมกัน หรือคอยแต่หวั่นกลัวเสียงกล่าวว่า, พึงใช้แต่ในทางดีหรือในของเขตที่เป็นความดี คือ เคารพเสียงหมู่ชน (ข้อ ๒ ในอธิปไตย ๓)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย