พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด มงคล

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


มงคล

มงคล สิ่งที่ทำให้มีโชคดี, ตามหลักพระพุทธศาสนา หมายถึง ธรรม ที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ, มงคล ๓๘ ประการ หรือเรียกเต็มว่า อุดมมงคล (มงคลอันสูงสุง) ๓๘ ประการมีดังนี้

คาถาที่ ๑ = ๑. อเสวนา จ พาลานํ ไม่คนคบพาล ๒. ปณฺฑิตานญฺจเสวนา คบบัณฑิต ๓. ปูชา จ ปูชนียานํ บูชาคนที่ควรบูชา

คาถาที่ ๒ = ๔. ปฏิรูปเทสวาโส จ อยู่ในปฏิรูปเทศ, อยู่ในถิ่นมีสิ่งแวดล้อมดี ๕. ปุพฺเพ จ กต ปุญญตา ได้ทำความดีให้พร้อมไว้ก่อน, ทำความดีเตรียมพร้อมไว้แต่ต้น ๖. อตฺตสมฺมาปณิธิ จ ตั้งตนไว้ชอบ

คาถา ที่ ๓ = ๗. พาหุสจฺจญฺจ เล่าเรียนศึกษามาก, ทรงความรู้กว้างขวาง, ใส่ใจสดับตรับฟังค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ ๘. สิปฺปญฺจ มีศิลปวิทยา, ชำนาญในวิชาชีพของตน ๙. วินโย จ สุสิกฺขิโต มีระเบียบวินัย, ได้ฝึกอบรมตนไว้ดี ๑๐. สุภาสิตา จ ยา วาจา วาจาสุภาษิต, รู้จักใช้วาจาพูดให้เป็นผลดี

คาถาที่ ๔ = ๑๑. มาตาปิตุอุปฏฺฐานํ บำรุงมารดาบิดา ๑๒/๑๓. ปุตฺตทารสฺส สงฺคโห = ปุตฺตสงฺคห สงเคราะห์บุตรและ ทารสงฺคห สงเคราะห์ภรรยา ๑๔. อนากุลา จ กมฺมนฺตา การงานไม่อากูล

คาถาที่ ๕ = ๑๕. ทานญฺจ รู้จักให้, เผื่อแผ่แบ่งปัน, บริจาคสงเคราะห์และบำเพ็ญประโยชน์ ๑๖. ธมฺมจริยา จ ประพฤติธรรม, ดำรงอยู่ในศีลธรรม ๑๗. ญาตกานญฺจ สงฺคโห สงเคราะห์ ญาติ ๑๘. อนวชฺชานิ กมฺมานิ การงานที่ไม่มีโทษ, กิจกรรมที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ไม่เป็นทางเสียหาย

คาถาที่ ๖ = ๑๙. อารติ วิรติ ปาปา เว้นจากความชั่ว ๒๐. มชฺชปานา จ สญฺญโม เว้นจากการดื่มน้ำเมา ๒๑. อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย

คาถาที่ ๗ = ๒๒. คารโว จ ความเคารพ การแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นผู้รู้จักคุณค่าของบุคคล สิ่งของหรือกิจการนั้นๆ และรู้จักให้ความสำคัญและความใส่ใจเอื้อเฟื้อโดยเหมาะสม ๒๓. นิวาโต จ ความสุภาพอ่อนน้อม, ถ่อมตน ๒๔. สนฺตุฏฺฐี จ ความสันโดษ, ความเอิบอิ่มพึงพอใจในผลสำเร็จที่ได้สร้างขึ้นหรือในปัจจัยลาภที่แสวงหามาได้ ด้วยเรี่ยวแรงความเพียร พยายามของตนเองโดยทางชอบธรรม ๒๕. กตญฺญุตา มีความกตัญญู ๒๖. กาเลน ธมฺมสฺสวนํ ฟังธรรมตามกาล, หาโอกาสแสวงหาความรู้ ในเรื่องที่แสดงหลักความจริง

คาถาที่ ๘ = ๒๗. ขนฺตี จ มีความอดทน ๒๘. โสวจสฺสตา เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ๒๙. สมณานญฺจ ทสฺสนํ พบเห็นสมณะ, เยี่ยมเยือนเข้าหาท่านผู้สงบกิเลส ๓๐. กาเลน ธมฺมสากจฺฉา สนทนาธรรมตามกาล, หาโอกาสสนทนาถกเถียงเกี่ยวกับหลักความจริงและหลักความถูกต้องดีงาม

คาถาที่ ๙ = ๓๑. ตโป จ มีความเพียรเผากิเลส, รู้จักบังคับควบคุมตน ไม่ปรนเปรอตามใจอยาก ๓๒. พฺรหฺมจริยญฺจ ประพฤติพรหมจรรย์, ดำเนินตามอริยมรรค, การรู้จักควบคุมตนในทางเพศ หรือถือเมถุนวิรัติตามควร ๓๓. อริยสจฺจาน ทสฺสนํ เห็นอริยสัจจ์, เข้าใจความจริงของชีวิต ๓๔. นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ ทำพระนิพพานให้แจ้ง, บรรลุนิพพาน

คาถาที่ ๑๐ = ๓๕. ผุฏฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ จิตฺตํ ยสฺส น กมฺปติ ถูกโลกธรรม จิตไม่หวั่นไหว ๓๖. อโสกํ จิตไร้เศร้า ๓๗. วิรชํ จิตปราศจากธุลี ๓๘. เขมํ จิตเกษม




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย