พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด โอปนยิโก - โอวาท

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


โอปนยิโก - โอวาท

โอปนยิโก พระธรรมควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น (ข้อ ๕ ในธรรมคุณ ๖)

โอปปาติกะ สัตว์เกิดผุดขึ้น คือ เกิดผุดขึ้นมาและโตเต็มตัวในทันใด ตายก็ไม่ต้องมีเชื้อหรือซากปรากฏ เช่นเทวดาและสัตว์นรก เป็นต้น (ข้อ ๔ ในโยนิ ๔); บาลีว่า รวมทั้งมนุษย์บางพวก

โอปกฺกมิกา อาพาธา ความเจ็บไข้เกิดจากความพยายามหรือจากคนทำให้เจ็บป่วย เพราะการกระทำของคนคือตนเองเพียรเกินกำลัง หรือถูกเขากระทำ เช่น ถูกจองจำ ใส่ขื่อคา เป็นต้น

โอภาส
1. แสงสว่าง, แสงสุกใสผุดผ่อง (ข้อ ๑ ในวิปัสสนูปกิเลส ๑๐)
2. การพูดหรือแสดงออกที่เป็นเชิงเปิดช่องทางหรือให้โอกาส เช่นที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำโอภาส ณ ที่ต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งถ้าพระอานนท์เข้าใจ ก็จะทูลขอให้ทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอด (อายุ) กัป

โอมสวาท คำพูดเสียดแทงให้เจ็บใจหรือให้ได้ความอัปยศ ได้แก่ การพูดแดกหรือประชดก็ตาม ด่าก็ตามกระทบถึง อักโกสวัตถุ ๑๐ ประการ มีชาติกำเนิด ชื่อ ตระกูล เป็นต้น ภิกษุกล่าวว่าโอมสวาทแก่ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ แก่อนุปสัมบันต้องอาบัติทุกกฎตาม สิกขาบทที่ ๒ แห่งมุสาวาทวรรคปาจิตติยกัณฑ์

โอรส “ผู้เกิดแต่อก” ลูกชาย

โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำ,กิเลสผูกใจสัตว์อย่างหยาบ มี ๕ อย่าง คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ; ดู สังโยชน์

โอวาท คำกล่าวสอน, คำแนะนำ, คำตักเตือน;
โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ คือ
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วยกายวาจาใจ (= ไม่ทำความชั่วทั้งปวง)
๒.ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ (= ทำแต่ความดี)
๓. ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น (= ทำจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์)
โอวาท ๓ นี้ รวมอยู่ใน โอวาทปาฏิโมกข์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย