พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อันติมวัตถุ - อัปปมาท

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อันติมวัตถุ - อัปปมาท

อันติมวัตถุ วัตถุมีในที่สุด หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ต้อง มีโทษถึงที่สุดคือ ขาดจากภาวะของตน

อันเตวาสิก ผู้อยู่ในสำนัก, ภิกษุผู้ขออยู่ร่วมสำนัก, ศิษย์ (ภิกษุผู้รับให้อยู่ร่วมสำนักเรียกอาจารย์);
อันเตวาสิกมี ๔ ประเภทคือ
๑. ปัพพชันเตวาสิก อันเตวาสิกในบรรพชา
๒. อุปสัมปทันเตวาสิก อันเตวาสิกในอุปสมบท
๓. นิสสยันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้ถือนิสัย
๔. ธัมมันเตวาสิก อันเตวาสิกผู้เรียนธรรม

อันธกวินทะ ชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นมคธ อยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณ ๑ คาวุต (คัมภีร์ฉบับสีหฬว่า ๓ คาวุต)

อัปปณิหิตวิโมกข์ ความหลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา คือ พิจารณาเห็นนามรูปเป็นทุกข์ แล้วถอนความปรารถนาเสียได้ (ข้อ ๓ ในวิโมกข์ ๓)

อัปปณิหิตสมาธิ การเจริญสมาธิที่ทำให้ถึงความหลุดพ้นด้วยกำหนดทุกขลักษณะ (ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

อัปปนาภาวนา ภาวนาขั้นแน่วแน่ คือฝึกสมาธิถึงขั้นเป็นอัปปนา เป็นขั้นบรรลุปฐมฌาน (ข้อ ๓ ในภาวนา ๓)

อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่, จิตตั้งมั่นสนิท เป็นสมาธิในฌาน (ข้อ ๒ ในสมาธิ ๒, ข้อ ๓ ในสมาธิ ๓)

อัปปมัญญา ธรรมที่แผ่ไปไม่มีประมาณ หมายถึง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่แผ่ทั่วไปในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวางสม่ำเสมอกัน ไม่จำกัดขอบเขต มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ที่กล่าวแล้วนั้น ดู พรหมวิหาร

อัปปมัตตกวิสัชชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือ แต่งตั้งจากสงฆ์ให้มีหน้าที่เป็นผู้จ่ายของเล็กน้อย เช่น เข็มเย็บผ้า มีดตัดเล็บ ประคด เภสัชทั้งห้า เป็นต้น ให้แก่ภิกษุทั้งหลาย

อัปปมาท ความไม่ประมาท, ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ, ความไม่เผลอ, ความไม่เลินเล่อเผลอสติ, ความไม่ปล่อยปละละเลย, ความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหาย และไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดีงามและความเจริญ, ความมีสติรอบคอบความไม่ประมาท พึงกระทำในที่ ๔ สถาน คือ
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ประกอบความเห็นที่ถูก;

อีกหมวดหนึ่งว่า
๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัด ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคือง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลง ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมา ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย