พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อัคคิ - อังคุตตรนิกาย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อัคคิ - อังคุตตรนิกาย

อัคคิ ไฟ, ไฟกิเลส, กิเลสดุจไฟเผาลนจิตใจให้เร่าร้อน มี ๓ คือ ๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ ๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ ๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ

อัคคิเวสสนโคตร ตระกูลอัคคิเวสสนะ เป็นตระกูลของปริพาชกคนหนึ่งชื่อ ทีฆนขะ

อัคฆสโมธาน การประมวลโดยค่า, เป็นชื่อปริวาสที่ภิกษุผู้ปรารถนาจะออกจากอาบัติสังฆาทิเสสซึ่งต้องหลายคราว มีจำนวนวันปิดไม่เท่ากัน ประ มวลอาบัติและวันเข้าด้วยกัน อยู่ปริ วาสเท่าจำนวนวันที่มากที่สุด เช่น ต้องอาบัติ ๓ คราว คราวหนึ่งปิดไว้ ๓ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๕ วัน คราวหนึ่งปิดไว้ ๗ วัน อยู่ปริวาสเท่าจำนวนมากที่สุด คือ ๗ วัน
ดู สโมธานปริวาส

อัคร เลิศ, ยอด, ล้ำเลิศ, ประเสริฐ, สูงสุด

อัครพหูสูต พหูสูตผู้เลิศ, ยอดพหูสูต, ผู้คงแก่เรียนอย่างยอดเยี่ยม หมายถึงพระอานนท์

อัครสาวก สาวกผู้เลิศ, สาวกผู้ยอดเยี่ยมหมายถึงพระสารีบุตร (เป็นอัครสาวกเบื้องขวา) และพระมหาโมคคัลลานะ (เป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย)

อังคะ ชื่อแคว้นหนึ่งในบรรดา ๑๖ แคว้นใหญ่แห่งชมพูทวีป ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของแคว้นมคธ มีแม่น้ำจัมปากั้นแดนและมีนครหลวงชื่อจัมปา ในพุทธกาลแคว้นอังคะขึ้นกับแคว้นมคธ

อังคาร ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

อังคารสตูป พระสถูปที่บรรจุพระอังคาร ซึ่งโมริยกษัตริย์สร้างไว้ที่เมืองปิปผลิวัน

อังคาส ถวายพระ, เลี้ยงพระ

อังคุดร หมายถึง อังคุตตรนิกาย

อังคุตตรนิกาย ชื่อนิกายที่สี่ในบรรดานิกาย ๕ แห่งพระสุตตันตปิฎก เป็นที่ชุมนุมพระสูตรซึ่งจัดเข้าลำดับตามจำนวนหัวข้อธรรม เป็นหมวด ๑ (เอกนิบาต) หมวด ๒ (ทุกนิบาต) เป็นต้นจนถึงหมวด ๑๑ (เอกาทสกนิบาต)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย