พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อสุภ, อสุภะ - อเหตุกทิฏฐิ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อสุภ, อสุภะ - อเหตุกทิฏฐิ

อสุภ, อสุภะ สภาพที่ไม่งาม, พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม; ในความหมายเฉพาะ หมายถึง ซากศพในสภาพต่าง ๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน รวม ๑๐ อย่าง คือ
๑. อุทธุมาตกะ ซากศพที่เน่าพอง
๒. วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ
๓. วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่
๔. วิจฉิททกะ ซากศพที่ขาดกลางตัว
๕. วิกขายิตกะ ซากศพที่สัตว์กัดกินแล้ว
๖. วิกขิตตกะ ซากศพที่มีมือเท้า ศีรษะขาด
๗. หตวิกขิตตกะ ซากศพที่คนมีเวรเป็นข้าศึกกัน สับฟันเป็นท่อน ๆ
๘. โลหิตกะ ซากศพที่ถูกประหารด้วยศัตรามีโลหิตไหลอาบอยู่
๙. ปุฬุวกะ ซากศพที่มีตัวหนอนคลานคล่ำไปอยู่
๑๐. อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก

อสุภสัญญา กำหนดหมายถึงความไม่งามแห่งร่างกาย (ข้อ ๓ ในสัญญา ๑๐)

อสุรกาย พวกอสูร, ภพแห่งสัตว์เกิดในอบายพวกหนึ่ง เป็นพวกสะดุ้ง หวาดหวั่นไร้ความรื่นเริง ถ้าเปรียบกับในโลกนี้ก็เหมือนดังคนอดอยาก เที่ยวทำโจรกรรมในเวลาค่ำคืน หลอกลวงฉกชิงเอาทรัพย์ของผู้อื่น (ข้อ ๔ ในอบาย ๔)

อสูร สัตว์กึ่งเทพหรือเทพชั้นต่ำพวกหนึ่ง ตำนานกล่าวว่า เดิมเป็นเทวดาเก่า (บุพเทวา) เป็นเจ้าถิ่นครอบครองดาวดึงสเทวโลก ต่อมาถูกเทวดาพวกใหม่ มีท้าวสักกะเป็นหัวหน้าแย่งถิ่นไป โดยถูกเทพพวกใหม่นั้นจับเหวี่ยงลงมาในระหว่างพิธีเลี้ยงเมื่อพวกตนดื่มสุราจนเมามาย ได้ชื่อใหม่ว่าอสูร เพราะเมื่อฟื้นคืนสติขึ้นระหว่างทางที่ตกจากดาวดึงส์นั้น ได้กล่าวกันว่า “พวกเราไม่ดื่มสุราแล้ว” (อสูรจึงแปลว่าผู้ไม่ดื่มสุรา)

พวกอสูรได้ครองพิภพใหม่ที่เชิงเขาสิเนรุ หรือเขาพระสุเมรุ และมีสภาพความเป็นอยู่ มีอายุ วรรณะ ยศ อิสริยสมบัติ คล้ายกันกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ พวกอสูรเป็นศัตรูโดยตรงกับเทวดา และมีเรื่องราวขัดแย้งทำสงครามกันบ่อย ๆ พวกอสูรออกจะเจ้าโทสะ จึงมักถูกกล่าวถึงในฐานะเป็นพวกมีนิสัยพาลหรือเป็นฝ่ายผิด

อเสขะ ผู้ไม่ต้องศึกษา เพราะศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คือ พระอรหันต์, คู่กับเสขะ

อเสขบุคคล บุคคลผู้ไม่ต้องศึกษา ดู อเสขะ

อเหตุกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือความเห็นผิดว่า คนเราจะได้ดีหรือชั่วตามคราวเคราะห์ ถึงคราวจะดี ก็ดีเอง ถึงคราวจะร้าย ก็ร้ายเอง ไม่มีเหตุอื่นจะทำให้คนดีคนชั่วได้ (ข้อ ๒ ในทิฏฐิ ๓)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย