พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด อธิกรณสมถะ - อธิบาย

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


อธิกรณสมถะ - อธิบาย

อธิกรณสมถะ ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์, วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์มี ๗ อย่าง คือ
๑. สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า
๒. สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก
๓. อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า
๔. ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ
๕. ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด (ที่ไม่รับ)
๖. เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก
๗. ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนี ประนอม)

อธิกวาร วันที่เพิ่มขึ้นในปีจันทรคติ (คือในปีนั้น เติมให้เดือนเจ็ดเป็นเดือนเต็มมี ๓๐ วัน)

อธิกสุรทิน วันทางสุริยคติที่เพิ่มขึ้น (คือเพิ่มวันเข้าในเดือนกุมภาพันธ์อีกวันหนึ่ง เป็น ๒๙ วัน)

อธิการ
1. เรื่อง, ตอน เช่น ในอธิการนี้หมายความว่า ในเรื่องนี้ ในตอนนี้
2. อำนาจ, การปกครอง, บังคับบัญชา, ตำแหน่ง, หน้าที่ กิจการ, ภาระ, สิทธิ, เคยเรียกเจ้าอาวาสที่ไม่เป็นเปรียญและไม่มีสมณศักดิ์อย่างอื่นว่า พระอธิการ และเรียกเจ้าอาวาสเช่นนั้นที่เป็นเจ้าคณะตำบลว่า เจ้าอธิการ

อธิจิตตสิกขา การศึกษาในอธิจิตต์, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง, การฝึกฝนอบรมจิตใจให้เข้มแข็งมั่นคงมีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบานเป็นสุข ผ่องใส เหมาะแก่การใช้ความคิดพิจารณา เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา (ข้อ ๒ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา) เรียกกันง่าย ๆ ว่า สมาธิ

อธิบดี ใหญ่ยิ่ง, ผู้เป็นใหญ่, หัวหน้า

อธิบาย ไขความ, ขยายความ, ชี้แจง; ความประสงค์




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย