พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ราชพลี - ราธะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ราชพลี - ราธะ

ราชพลี ถวายเป็นหลวง มีเสียภาษีอากร เป็นต้น (ข้อ ๔ แห่งพลี ๕ ในโภคอาทิยะ ๕)

ราชภฏี ราชภัฏหญิง, ข้าราชการหญิง

ราชภัฏ ผู้อันพระราชาเลี้ยง คือ ข้าราชการ

ราชวโรงการ คำสั่งของพระราชา

ราชสมบัติ สมบัติของพระราชา, สมบัติคือความเป็นพระราชา

ราชสังคหวัตถุ สังคหวัตถุของพระราชา, หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครองมี ๔ คือ ๑. สัสสเมธะ ฉลาดบำรุงธัญญาหาร ๒. ปุริสเมธะ ฉลาดบำรุงข้าราชการ ๓. สัมมาปาสะ ผูกผสานรวมใจประชา (ด้วยการส่งเสริมสัมมาชีพให้คนจนตั้งตัวได้) ๔. วาชไปยะ มีวาทะดูดดื่มใจ

ราชสาสน์ หนังสือทางราชการของพระราชา

ราชอาสน์ ที่นั่งสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน

ราชา “ผู้ยังเหล่าชนให้อิ่มเอมใจ” หรือ “ผู้ทำให้คนอื่นมีความสุข”, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองประเทศ

ราชาณัติ คำสั่งของพระราชา

ราชาธิราช พระราชาผู้เป็นใหญ่กว่าพระราชาอื่นๆ

ราชาภิเษก พระราชพิธีในการขึ้นสืบราชสมบัติ

ราชายตนะ ไม้เกต อยู่ทิศแห่งต้นพระ ศรีมหาโพธิ ณ ที่นี้พระพุทธเจ้าประทับนั่งสวยวิมุตติสุข ๗ วัน พ่อค้า ๒ คนคือ ตปุสสะกับภัลลิกะ ซึ่งมาจากอุกกลชนบท ได้พบพระพุธเจ้าที่นี่ ดู วิมุตติสุข

ราชูปถัมภ์ การที่พระราชาทรงเกื้อกูลอุดหนุน

ราชูปโภค เครื่องใช้สอยของพระราชา

ราโชวาท คำสั่งสอนของพระราชา

ราตรี กลางคืน, เวลามืดค่ำ

ราธะ พระมหาสาวกองค์หนึ่ง เดิมเป็นพราหมณ์ในเมืองราชคฤห์ เมื่อชราลงถูกบุตรทอดทิ้ง อยากจะบวชก็ไม่มีภิกษุรับบวชให้ เพราะเห็นว่าเป็นคนแก่เฒ่า ราธะเสียใจ ร่างกายซูบซีด พระศาสดาทรงทราบจึงตรัสถามว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรระลึกถึงภิกษาทัพพีหนึ่งที่ราธะถวาย จึงรับเป็นอุปัชฌาย์ และราธะได้เป็นบุคคลแรกที่อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ท่านบวชแล้วไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต พระราธะเป็นผู้ว่าง่าย ตั้งใจรับฟังคำสั่งสอน มีความสุภาพอ่อนโยน เป็นตัวอย่างของภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตรก็ชมท่าน ท่านเคยได้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้าเคยทำหน้าที่เป็นพุทธอุปฐาก ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะในทางก่อให้เกิดปฏิภาณ




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย