พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ผ้าวัสสาวาสิกสาฏิกา -โผฏฐัพพะ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ผ้าวัสสาวาสิกสาฏิกา -โผฏฐัพพะ

ผ้าวัสสาวาสิกสาฏิกา ดู ผ้าจำนำพรรษา

ผ้าวัสสิกสาฏิกา ดู ผ้าอาบน้ำฝน

ผ้าสาฏิกา ผ้าคลุม, ผ้าห่ม

ผาสุก ความสบาย, ความสำราญ

ผาสุวิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่สบาย

ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าสำหรับอธิษฐานไว้ใช้นุ่งอาบน้ำฝนตลอด ๔ เดือนแห่งฤดูฝน ซึ่งพระภิกษุจะแสวงหาได้ในระยะเวลา ๑ เดือน ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ และให้ทำนุ่งได้ในเวลากึ่งเดือน ตั้งแต่ขึ้น ๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ปัจจุบันมีประเพณีทายกทายิกาทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนตามวัดต่างๆ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๘;
เรียกเป็นคำศัพท์ว่า วัสสิกสาฏิกา หรือ วัสสิกสาฎก;
คำถวายผ้าอาบน้ำฝนเหมือนคำถวายผ้าป่า เปลี่ยนแต่ ปํสุกุลจีวรานิ เป็น วสฺสิกสาฏิกานิ และผ้าบังสุกุลจีวรเป็นผ้าอาบน้ำฝน

ผู้มีราตรีเดียวเจริญ ผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน อยู่ด้วยความไม่ประมาท

เผดียง บอกแจ้งให้รู้, บอกนิมนต์, บอกกล่าวหรือประกาศเชื้อเชิญเพื่อให้ร่วมทำกิจโดยพร้อมเพรียงกัน; ประเดียง ก็ว่า ดู ญัตติ

แผ่เมตตา ตั้งจิตปรารถนาดีขอให้ผู้อื่นมีความสุข;

คำแผ่เมตตาที่ใช้เป็นหลักว่า
สพฺเพ สตฺตา อเวรา อพฺยาปชฺฌา อนีฆา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
แปลว่า ขอสัตว์ทั้งหลาย, (ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน) หมดทั้งสิ้น, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย, (จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด), อย่าได้มีทุกข์กายทุกข์ใจเลย, จงมีความสุขกายสุขใจ, รักษาตน (ให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น) เถิด. (ข้อความในวงเล็บเป็นส่วนที่เพิ่มเข้ามาในคำแปลเป็นไทย)

ผู้เจริญเมตตาธรรมอยู่เสมอ จนจิตมั่นในเมตตา มีเมตตาเป็นคุณสมบัติประจำใจ จะได้รับอานิสงส์ คือผลดี ๑๑ ประการ คือ ๑. หลับก็เป็นสุข ๒. ตื่นก็เป็นสุข ๓. ไม่ฝันร้าย ๔. เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย ๕. เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย ๖. เทวดาย่อมรักษา ๗. ไม่ต้องภัยจากไฟ ยาพิษหรือศัสตราอาวุธ ๘. จิตเป็นสมาธิง่าย ๙. สีหน้าผ่องใส ๑๐. เมื่อจะตาย ใจก็สงบ ไม่หลงใหลไร้สติ ๑๑. ถ้ายังไม่บรรลุคุณพิเศษที่สูงกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก

โผฏฐัพพะ อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย, สิ่งที่ถูกต้องกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เป็นต้น (ข้อ ๕ ในอายตนะภายนอก ๖ และในกามคุณ ๕)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย