พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด ผทม - ผัสสาหาร

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


ผทม - ผัสสาหาร

ผทม นอน (สำหรับเจ้า)

ผนวช บวช (สำหรับเจ้า)

ผรณาปีติ ความอิ่มใจซาบซ่าน เมื่อเกิดขึ้นทำให้รู้สึกซาบซ่านทั่วสารพางค์ (ข้อ ๕ ในปีติ ๕)

ผรุสวาจา วาจาหยาบ, คำพูดเผ็ดร้อน, คำหยาบคาย (ข้อ ๖ ในอกุศลกรรมบถ ๑๐)

ผรุสาย วาจาย เวรมณี เว้นจากพูดคำหยาบ (ข้อ ๖ ในกุศลกรรมบถ ๑๐)

ผล สิ่งที่เกิดจากเหตุ, ประโยชน์ที่ได้; ชื่อแห่งโลกุตตรธรรมคู่กับมรรค และเป็นผลแห่งมรรค มี ๔ ชั้น คือโสดาปัตติผล ๑ สกทาคามิผล ๑ อนาคามิผล ๑ อรหัตตผล ๑

ผลญาณ ญาณในอริยผล, ญาณที่เกิดขึ้นในลำดับ ต่อจากมัคคญาณและเป็นผลแห่งมัคคญาณนั้น ซึ่งผู้บรรลุแล้วได้ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้นๆ มีโสดาบัน เป็นต้น ; ดู ญาณ ๑๖

ผลภาชกะ ภิกษุผู้ได้รับสมมติ คือแต่งตั้งจากสงฆ์ให้เป็นผู้มีหน้าที่แจกผลไม้

ผลเภสัช มีผลเป็นยา, ยาทำจากลูกไม้ เช่น ดีปลี พริก สมอไทย มะขามป้อม เป็นต้น

ผลเหตุสนธิ ต่อผลเข้ากับเหตุ หมายถึงเงื่อนต่อระหว่างผลในปัจจุบัน กับเหตุในปัจจุบัน ในวงจรปฏิจจสมุปบาท คือระหว่างวิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ข้างหนึ่ง (ฝ่ายผล) กับตัณหา อุปาทานภพ อีกข้างหนึ่ง (ฝ่ายเหตุ)

ผลาสโว ผลาสวะ, น้ำดองผลไม้

ผะเดียง ดู เผดียง

ผัคคุณมาส เดือน ๔

ผัสสะ การถูกต้อง, การกระทบ; ผัสสะ ๖ ดู สัมผัส

ผัสสาหาร อาหารคือผัสสะ, ผัสสะเป็นอาหาร คือเป็นปัจจัยอุดหนุนหล่อเลี้ยงให้เกิดเวทนา ได้แก่ อายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณกระทบกัน ทำให้เกิดเวทนา คือ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง (ข้อ ๒ ในอาหาร ๔)




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย