ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ทรงเลือก ๕ อย่าง
หมวดที่ ๒ - พระพุทธเจ้า พระนาม
"ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติ ทรงเลือก ๕ อย่าง"
ในกาลนั้น พระบรมโพธิสัตว์เจ้า บังเกิดเป็นสันตุสิตเทวราชเสวยทิพยสมบัติอยู่ในรัตนวิมานสวรรค์ ชั้นดุสิตเทวโลก ครั้งนั้นท้าวมหาพรหม และเทวราชในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นฟ้า ชวนกันไปเผ้ากราบทูลอาราธนาพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ให้จุติลงไปบังเกิดทั้งสองประชากร ให้รู้ธรรม และประพฤติธรรม สมดังที่พระองค์ได้บำเพ็ญบารมีตั้งพระทัยไว้แต่แรก
พระบรมโพธิสัตว์เจ้า ยังมิได้รับอาราธนาของทวยเทพทั้งหลายทรงพิจารณาดู "ปัญจมหาวิโลกนะ" หมายถึงสิ่งที่พระบรมโพธิสัตว์ทรงพิจารณาข้อตรวจสอบที่สำคัญหรือ "การตรวจดูอันยิ่งใหญ่ ๕ อย่าง" ก่อนที่จะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลกไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้ามี ๕ อย่างคือ ๑. กาล ๒.ทวีป ๓.ประเทศ ๔.ตระกูล ๕.มารดา พระบรมโพธิสัตว์เจ้าทรงเลือกดังนี้
๑. กาล ทรงเลือกอายุกาลของมนุษย์
๒. ทวีป ทรงเลือกชมพูทวีป
๓. ประเทศ ทรงเลือกมัธยมประเทศ
๔. ตระกูล ทรงเลือกตระกูลกษัตริย์ศากยวงศ์
๕. มารดา ทรงเลือกมารดาที่มีศีลห้าบริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป และกำหนดอายุของมารดา ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา
การที่ทรงเลือก อายุกลมนุษย์ เพราะอายุมนุษย์ขึ้นลงตามกระแสสังขาร บางยุคอายุ ๘ หมื่นปี ๔ หมื่นปี ๒ หมื่นปี อายุกาลของมนุษย์ในยุคนั้น ๑๐๐ ปีตรงตามที่ทรงกำหนดไว้คือต้องไม่สั้นกว่าร้อยปี ต้องไม่ยาวเกินแสนปี ที่ทรงเลือกอายุ ๑๐๐ ปีเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร เหตุที่ไม่ตรัสรู้บนสวรรค์ทั้งนี้เพราะเทวดาไม่เห็นทุกข์มีแต่สุข อายุยืนยาวนานนัก จะไม่เห็นอริยสัจ การตรัสรู้ธรรมและแสดงธรรมได้ผลดีมากในเมืองมนุษย์
การที่ทรงเลือกชมพูทวีป ซึ่งแปลว่า "ทวีปแห่งต้นหว้า" เพราะมีต้นหว้าขึ้นมากในดินแดนแห่งนี้ แผ่นดินชมพูทวีปในยุคนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกว่าประเทศอินเดียในปัจจุปันมากนัก มีดินแดนกินประเทศอื่นในปัจจุบันอีก ๖ ประเทศคือ ๑.ปากีสถาน ๒. บังกลาเทศ ๓. เนปาล ๔.ภูฏาน ๕.สิขิม ๖. บางส่วนของอัฟกานิสถาน (แคว้นกัมโพชะ ในมหาชนบท ๑๖ ปัจจุบันอยู่ในอัฟกานิสถาน)
ชมพูทวีปครั้งพุทธกาลแบ่งเป็นหลายอาณาจักร เป็นมหาชนบท ๑๖ แคว้น และยังปรากฎอีก ๔ แคว้นในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา อาณาจักรเหล่านี้มีพระเจ้าแผ่นดินดำรงยศเป็นมหาราชาบ้าง ราชาบ้างมีอธิบดีบ้าง เป็นผู้ปกครองโดยทรงอำนาจสิทธิขาดบ้างโดยสามัคคีธรรมบ้าง บางคราวตั้งเป็นอิสระ บางคราวตกอยู่ในอำนาจอื่นตามยุคตามสมัย
คนในชมพูทวีปแบ่งเป็นชนชั้น ที่จัดแบ่งออกไปตามหลักศาสนาพราหมณ์เรียกว่า วรรณะ ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทรคนในชมพูทวีปสนใจในวิชาธรรมมาก มีคณาจารย์ตั้งสำนักแยกย้ายกันตามลัทธิต่าง ๆ มากมาย เกียรติยศของศาสดาเจ้าลัทธิเจ้าสำนักผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้น ได้รับยกย่องเสมอเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินหรือมากยิ่งกว่า
การที่ทรงเลือกมัธยมประเทศ เพราะชมพูทวีปแบ่งเป็น ๒ จังหวัด เหนือ ๑ อาณาเขต อาณาเขตในคือ มัชณิมชนบทหรือมัธยมประเทศเป็นถิ่นกลางที่ตั้งแห่งนครใหญ่ ๆ มีความเจริญรุ่งเรือง มีเศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น เป็นศูนย์กลางแห่งการค้าขาย เป็นที่อยู่ของนักปราชญ์ผู้มีความรู้ เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยาการ เคยเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของพวกอารยันหรืออริยกะ รูปร่างสูง ผิวค่อนข้างขาวเป็นพวกที่มีความเจริญไม่ใช่เจ้าของถิ่นเดิม ทรงกำหนดกรุงกบิลพัสดุเป็นที่บังเกิด ส่วนอาณาเขตนอก เรียกว่าปัจจันตชนบทหรือประเทศปลายแดนเป็นถิ่นที่ยังไม่เจริญ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนพื้นเมืองดั้งเดิม รูปร่างเล็กผิวดำ จมูกแบน เป็นพวกเชื้อสายดราวิเดียนหรือพวกทมิฬในปัจจุบัน
การที่ทรงเลือกอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา เพระทรงกำหนดว่าเวลานั้นโลกสมบัติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ และศากยสกุลเป็นตระกูลที่บริสุทธิ์ ๗ ชั่วโคตร ถ้าไม่บริสุทธิ์ก็ยากที่จะมีคนเคารพนับถือ การเผยแผ่ศาสนาจะทำได้ยาก เพราะคนในสมัยนั่นถือชั้นวรรณะกันมากจึงเลือกวรรณะกษัตริย์ ที่สูงสุด เพราะไม่ใช่เพื่อตรัสรู้อย่างเดียว ทรงประประสงค์สั่งสอนธรรมแก่ประชาชนด้วย
การที่ทรงเลือกมารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัป ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่ไม่เกิน ๑๐ เดือนไปได้ ๗ วัน พระนางสิริมหามายาเป็นเจ้าหญิงแห่งเทวทหนคร เป็นพระราชบุตรีของพระเจ้าอัญชนะเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์
พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้น จะยากแก่การเผยแผ่ศาสนาจะถูกโจมตี พระนางสิริมหามายา ได้อธิฐานไว้ว่า ขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้าเมื่อประสูติ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ ๗ วันก็เสด็จทิวงคต เพระสงวนไว้สำหรับประสูติพระพุทธเจ้าองค์เดียว ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลกตามประเพณีพระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพระอธิฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า
ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข