วัดอนงคาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร





วัดอนงคาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2393
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2393


วัดอนงคารามวรวิหาร พระอารามหลวง เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท สังกัดมหานิกาย ตั้งอยู่ ณ ถนนสมเด็จเจ้าพระยา แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

วัดอนงคารามวรวิหาร ( วัดอนงค์ ) เป็นวัดที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดนี้เมื่อเดิมได้ชื่อว่า วัดน้อยขำแถม ตามชื่อของผู้สร้างคือ ท่านผู้หญิงน้อย ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ( ทัด บุนนาค ) สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นวัดคู่กันกับวัดพิชยญาติการามของสามี ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงเรียกชื่อวัดที่สร้างขึ้นใหม่นี้ว่า “วัดน้อยขำแถม” หมายถึงวัดที่ท่านผู้หญิงน้อยสร้าง แล้วท่านขำ แถมที่และสร้างจนเสร็จในภายหลัง ต่อมารัชกาลที่ ๔ พระราชทานนามให้ใหม่ว่า วัดอนงคาราม

พระอุโบสถที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ช่อฟ้า ใบระกาลงรักประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างก็มีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม มีพระพุทธรูปสำคัญอย่างพระพุทธจุลนาคซึ่งเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย เป็นพระประธานในพระวิหาร และมีพระพุทธรูปพระสาวกหล่อด้วยโลหะปิดทองยืนอยู่ด้านซ้ายขวา อีกทั้งด้านหน้าพระประธานยังมีพระพุทธมังคโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิตั้งอยู่ด้านหน้าอีกด้วย

และใกล้ ๆ กับพระวิหารนั้นก็ยังมีพระมณฑปซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้

วัดอนงคาราม บนชั้นสอง เป็นห้องสมุดประชาชนภายในวัดนั้น และเป็นที่ตั้งของ "พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตคลองสาน" ซึ่งในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปต่างๆ ในเขตคลองสาน ทั้งเรื่องของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวคลองสานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน วัดอนงคารามเป็นที่รู้จักกันดีในนาม “วัดสมเด็จย่า” ด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีนิวาสถานเดิมอยู่ใกล้กับวัดอนงคาราม และเมื่อยังทรงพระเยาว์ได้เข้าเรียนที่วัดอนงคาราม ซึ่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(นวม พุทธสโร) เจ้าอาวาสวัดในเวลานั้นได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสตรีขึ้น เรียนได้เพียงปีเดียว ก็ทรงเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนศึกษานารี ซึ่งเป็นโรงเรียนในอุปการะของสมเด็จพระพุฒาจารย์เช่นกัน

สมเด็จย่าทรงผูกพันกับชุมชนวัดอนงคารามเป็นอย่างมาก เพราะสถานที่แห่งนี้ได้มีส่วนในการหล่อหลอมชีวิตของพระองค์ท่านให้ก้าวไกลเกินสตรีในยุคนั้น อันสืบเนื่องจากการศึกษาเล่าเรียนนั่นเอง

ดังนั้น ใน พ.ศ. 2536 ทางการจึงได้จัดสร้าง “อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.๙) ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้อนุรักษ์อาคารเก่าในย่านนิวาสถานเดิมที่พระบรมราชชนนีเคยพำนักอยู่เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์ เป็นพิพิธภัณฑ์เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพัฒนาพื้นที่เป็นสวนสารธารณะระดับชุมชน


- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธจุลนาค พระประธานในพระวิหาร •


{ พระอุโบสถ }
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนลักษณะทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลงรัก ประดับกระจก มีเสาพาไลรอบ หน้าบันปูนปั้นลายดอกลอย ซุ้มประตูหน้าต่างลายปูนปั้น ลงรักปิดทองประดับกระจก บานประตูหน้าต่างเขียนลายรดน้ำรูปเซี่ยวกาง และรูปยักษ์ ผนังภายในฝ้าเพดานทาสีปิดทองล่องชาด


{ พระประธาน ในพระอุโบสถ }
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทองทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 40 ซม. สูง 50 ซม. ประดิษฐานอยู่ในบุษบกเหนือฐานชุกชี ประดับกระจก และมีพระพุทธรูปยืน 2 องค์ คู่กัน หล่อด้วยโลหะปิดทองอยู่หน้าบุษบก


{ พระวิหาร }
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะทรงไทย หลังคามุงกระเบื้องเคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา ประดับกระจก หน้าบันลายดอกไม้ประดับกระจก หน้าบันและซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายปูนปั้น บานประตูหน้าต่างสลักลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ฝ้าเพดานทาสี ปิดทองล่องชาด


{ พระประธานในพระวิหาร }

ภายในพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน “พระจุลนาค” พระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 2.5 เมตร สูง 3.4 เมตร ศิลปะสมัยสุโขทัย อัญเชิญมาจากสุโขทัย

และ “พระพุทธมังคโล” พระพุทธรูปทรงเครื่อง ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร สูง 2.20 เมตร


{ พระมณฑป }
ซึ่งสร้างขนาบกับพระวิหาร หลังที่อยู่ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ที่จำลองมาจากวัดราชาธิวาส และหลังที่อยู่ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองเอาไว้


{ พระพุทธไสยาสน์ }
ประดิษฐานในพระมณฑปทิศตะวันออก จำลองมาจากวัดราชาธิวาส




10,911







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย