รายงานผลการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ประจำปี ๒๕๕๓ (ปีที่ ๑๙)

 กองธรรมพระศรีฯ    

“กองธรรมพระศรีอารย์ กองธรรมนำสุข พ้นทุกข์นิพพานัง”
องค์กรเอกชนเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาและสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์และสัตว์โลกที่ประสบเคราะห์กรรม
รายงานผลการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ประจำปี ๒๕๕๓ (ปีที่ ๑๙)

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่รายงานผลล่าช้าออกไป ซึ่งผมเองรู้สึกกังวลใจ เนื่องด้วยมีเหตุจำเป็นหลายประการ ซึ่งจะได้เล่าให้ผู้บริจาคทุกคนได้ทราบ คือหลังจากต้นเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่กำหนดไว้ว่าจะรวบรวมเงินบริจาค เพื่อนำไปซื้อวัว-ควายจากโรงฆ่าสัตว์มอบให้กับโรงเรียนที่ยื่นความจำนงมาว่าต้องการวัว-ควายซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 โรงเรียน ผมได้ประสานไปยัง อ.สมานชัย สุวรรณอำไพ ณ สำนักงานพื้นที่การศึกษาเขต 2 จังหวัดนครพนม แต่ได้รับแจ้งว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงเรียนกำลังสอบประจำปี และจะเปิดเทอมวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 จึงจำเป็นต้องรอ ในระหว่างนั้นก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ในบ้านเมืองเกิดความไม่สงบ ซึ่งอาจลุกลามใหญ่โต จึงรอดูเหตุการณ์ว่าจะไปในทางใด เพราะเมื่อเรามอบทางโรงเรียนไปแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การติดตามตรวจสอบ

หลังจากนั้นต้นเดือนมิถุนายน 2553 ผมจึงได้เดินทางไปประชุมร่วมกับบรรดาผู้บริหารโรงเรียนต่างๆที่ได้รับวัว-ควายไปตั้งแต่ปีก่อน และตรวจเยี่ยมคราวเดียวกัน จึงได้ทราบปัญหาหลายอย่าง มีอยู่ประมาณ 5-6 โรงเรียนที่ต้องการคืน วัว-ควายที่รับไปรวมแล้ว 25 ตัว จึงต้องหาสถานที่ดูแลสัตว์เหล่านี้ ซึ่งได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยความร่วมมือของสัตวแพทย์อาสาในพื้นที่ช่วยคัดเลือกชาวบ้านที่รักสัตว์ มีความประพฤติดีและยอมรับกติกาของเราคือ จะไม่ขายหรือฆ่าตัวแม่หรือพ่อพันธ์ที่ได้รับไป พร้อมทั้งลูกที่จะเกิดใหม่ตัวแรกให้เลี้ยงไปตลอดชีวิต ส่วนตัวที่ 2 เป็นต้นไปที่เกิดจากแม่พันธ์ที่เรามอบให้ เป็นสิทธิของเขา เป็นการตอบแทนที่เขาเลี้ยงดู วัว-ควายให้เรา ชาวบ้านดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งทุกคนต้องเซ็นสัญญา ตามข้อตกลงกับผม โดยมีสัตวแพย์อาสาและผู้ใหญ่บ้านเป็นพยาน และทุกตัวฝังไมโครชิพ

กรณีดังกล่าวเป็นเหตุให้ผมต้องหยิบปัญหาการมอบให้โรงเรียนมาทบทวน ซึ่งวิตกกังวลว่า หากมอบให้ทางโรงเรียนอาจจะเกิดกรณีขอคืนขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก อีกประการ การมอบให้ทางโรงเรียน เรามีภาระผูกพันที่จะต้องมอบทุนการศึกษาโดยคิดตามจำนวนวัว-ควายตัวละ 1,000 บาท/ปี โรงเรียนละอย่างน้อย 2 ปี เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงพอสมควร ขณะเดียวกัน ผมก็ยังคงต้องติดตามตรวจสอบ ดูแลเช่นกัน 2-3 เดือน/ครั้ง ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯไปนครพนม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน จึงตัดสินใจยุติการมอบให้กับบรรดาโรงเรียนต่างๆไว้ก่อน นอกจากโรงเรียนใดที่เราพิจารณาแล้วไปตรวจเยี่ยมดูแล้วว่า มีความพร้อมจริงๆ ปัญหาที่เกิดจากโรงเรียนส่วนใหญ่ เกิดจากการเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่ไม่มีนโยบายเลี้ยงสัตว์ หรือผู้บริหารขาดความเอาใจใส่ เวลาต้องการไม่พิจารณาถึงความพร้อมขององค์กร เช่น ภารโรงมีหรือไม่ ดูครูคนอื่นในโรงเรียนเห็นด้วยไหม? หรือพอเข้าหน้าแล้งอาหารคือ หญ้าไม่พอให้วัว-ควายกิน เป็นต้น

ซึ่งทำให้เราต้องหันกลับมาหาชาวบ้านอีกครั้ง ในความสังเกตุของผม อุปนิสัยใจคน ชาวบ้านในภาคอีสานก็แตกต่างจากภาคเหนือ ขณะเดียวกันเราก็พยายามทำให้รัดกุมที่สุด เมื่อเราได้พยายามที่จะปกป้องชีวิตเขาจนสุดความสามารถแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ไม่รู้สึกเสียใจที่บกพร่อง ไม่ว่าเราจะทำวิธีใดก็ย่อมมีปัญหา มีอุปสรรคมีค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากเรายังยืนยันที่จะทำต่อไป ในความคิดเห็นของผม การมีที่ดินของตนเองแล้วเลี้ยงเองเป็นวิธีที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายที่เกินกำลังในปัจจุบัน ในการประสานกับชาวบ้านโดยตรงก็ควรมีวิธีการที่จะทำให้โครงการยั่งยืนเสริม เพื่อดึงให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมกับเรา เนื่องจากว่า เรื่องวัว-ควาย หรือการช่วยชีวิตนี้ ผมตั้งใจว่าจะทำไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ดังนั้น จึงถือโอกาสแจ้งให้ทุกคนที่ร่วมบริจาค พร้อมทั้งขออนุญาตที่จะนำเงินส่วนหนึ่งของการบริจาคในแต่ละปี ปีละไม่เกิน 15-20% มาทำโครงการช่วยชาวบ้านที่ร่วมมือกับเราในการรับวัว-ควายของเราไปดูแล ซึ่งผมจะได้ชี้แจงให้ทุกท่านทราบอย่างละเอียดในรายงานผลแต่ละปี และสามารถตรวจสอบได้

ดังนั้น เมื่อการแก้ปัญหาและคืนวัว-ควายของโรงเรียนต่างๆลุล่วงไป ปีนี้ได้รับบริจาคประจำปี 2553 นี้ ยอดเงินที่ได้รับทั้งสิ้น 514,715 บาท (ห้าแสนหนึ่งหมื่นสี่พันเจ็ดร้อยสิบห้าบาทถ้วน) จึงได้นำมาซื้อวัว-ควายมอบชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม เพราะสะดวกในการติดตามตรวจสอบ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เดียวกันวัว-ควายที่ได้รับคืนจากโรงเรียนต่างๆ

การไถ่ชีวิต วัว-ควายที่จะได้ผลก็เพราะมีการติดตามและตรวจสอบ จึงจะช่วยชีวิตได้จริง ซึ่งเป็นภาระที่ใหญ่ แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะทำแล้วก็ควรทำให้ถึงที่สุด มิฉะนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการหลอกคนบริจาคว่าได้ช่วยไถ่ชีวิตวัว-ควายจากโรงฆ่าสัตว์แล้ว ขณะเดียวกันก็เหมือนหลอกวัว-ควายว่า เขาจะรอดชีวิตแล้ว เพราะหากไม่มีการติดตามและฝังไมโครชิฟ วัว-ควายทุกตัวจะถูกวนเข้าไปในโรงฆ่าสัตว์อีกแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันไม่มีการไถนาด้วยควายแล้ว เขาเลี้ยงเพื่อเข้าตลาดนัด โค-กระบือ และมุงหน้าเข้าโรงฆ่าสัตว์ทุกตัว

สัตว์ทุกตัวเขารู้ แม้พูดไม่ได้ เพราะอากัปกริยาเมื่อออกมาจากโรงฆ่าสัตว์ มาสู่ทุ่งนาจะต่างจากเดิมที่มีความเศร้าซึม บางตัวมีน้ำตาไหลตลอดเวลา แต่มาถึงทุ่งนา เขาจะมีการกระดิกหาง กระดิกหู สะบัดหางไปมา นอนเกลือกเล่นกับหนองน้ำ เดินเล็มหญ้าอย่างมีความสุข เพราะฉะนั้นผมจึงต้องการช่วยให้พวกเขารอดจากการถูกฆ่าจริงๆ

การเกิดมาเป็นสัตว์เดรัจฉานถือว่าเป็นเพศที่อาภัพ แม้ว่ายังดีกว่าสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ทุกครั้งที่ขนวัว-ควายขึ้นรถ พวกเขาจะถูกต้อนทุบตี มัดจนหน้าเชิด เบียดเสียดไปบนรถ ผมขับรถตามพวกเขาไปเป็นระยะเวลาหลายสิบกิโลเมตร มันต้องยืนเงยหน้าไปกลางแดด โดยไม่มีสิทธิปริปากบ่น บางตัวทนไม่ไหวก็ล้มลงเหยียบกันเอง เชือกบาดจมูกฉีกเลือดไหลโกรกกลางแดดบางตัวท้องแก่ใกล้คลอด ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกัน ทำให้นึกถึงมนุษย์ด้วยกันว่า คติท่านทั้งหลายก็ยังไม่แน่นอน เมื่อละจากอัตภาพนี้ คือตาย จะไปสู่ภพใด ท่านได้เตรียมตัวกันมากน้อยแค่ไหน ชีวิตหลังความตายรออยู่ ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะไม่ว่าจะยากจนข้นแค้นสักแค่ไหน ก็ยังมีกฎหมายรองรับ คุ้มครอง ต่างกับสัตว์ที่สุดแท้แต่มนุษย์จะเมตตา ซึ่งก็ไม่ต้องไปหวัง คนด้วยกันยังเข่นฆ่ากันกลางวันแสกๆ กลางเมืองหลวง ตายเป็นร้อยๆศพ นับประสาอะไรกับสัตว์ ความเป็นลาภอันประเสริฐนั้น จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ มนุษย์ผู้นั้นรู้จักใช้โอกาสของความเป็นมนุษย์ให้เป็น มิฉะนั้นท่านก็สามารถสร้างบาปอันมหันต์ที่ไม่มีสัตว์โลกชนิดใดทำได้เท่า นับแต่ฆ่ามนุษย์ด้วยกัน ฆ่าพ่อแม่ผู้มีพระคุณ เป็นต้น

ท่านทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายเมื่อจะตาย ไม่มีใครรู้ เรารู้วันเกิด ไม่รู้วันตาย คนที่ออกจากบ้านมาตอนเช้า แล้วมาประสบอุบัติเหตุโดนรถชนก็ดี จมน้ำก็ดี ถูกฆ่า ถูกทำร้ายก็ดี ไม่มีมนุษย์ตนใดจะรู้ล่วงหน้า เมื่อรู้ก็สายเสียแล้ว ความเป็นมนุษย์ คือ ผู้มีโอกาศ โลกนี้คือโลกแห่งโอกาศ ขณะเดียวกันก็เป็นแดนทุรกันดาร จึงเรียกว่า วัฏฏสงสาร ท่านลองพิจารณาดูจากอายุของท่านว่า เหลือเวลาอีก กี่ปี กี่เดือน กี่อาทิตย์ กี่วัน? ที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ในโลกนั้น และคติที่หมายของท่านนั้นคือที่ใด?

สิ่งที่ท่านได้ร่วมกันทำ เรียกว่า ทานปรมัตถ์ เป็นการให้ที่สูงสุด คือการให้ชีวิตเป็นทาน โดยเฉพาะสัตว์ใหญ่ เช่น วัว-ควาย มีอานิสงค์มาก ท่านให้สิ่งใด ท่านได้รับสิ่งนั้น ที่ว่าเป็นทานอันสูงสุดก็เพราะว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นเป็นของสูง เป็นของผู้ซึ่งมีสติปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา ผู้จะเข้าถึงได้ต้องเคยสั่งสมอบรมปัญญามาในกาลก่อน ใช่ว่าให้แล้วจะรับได้ทุกคน จะให้ใครก็ได้

“ดังนั้น ด้วยอำนาจของทานนี้ และบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้สั่งสมมาตลอดทุกภพทุกชาติ นับแต่ก่อนปรารถนาพระโพธิญาณและนับแต่ปรารถนาพระโพธิญาณ จนกระทั่งปัจจุบันวันนี้ ขอตั้งจิตอธิษฐานให้ท่านทั้งหลายทุกรูปทุกนามที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้ จงอย่าได้มาเกิดเป็นวัว-ควายอีกเลย หากความเกิดยังมีอยู่เพียงใด ยังไม่ถึงที่สุดแห่งทุกข์ จงได้พบกับศาสนาพระศรีอาริยเมตตไตรย์ด้วยเทอญฯ”

จนกว่าจะพบกันอีก



กองธรรมพระศรีอารย์ ปรารถนาให้โลกนี้มีความสุข




รายงานค่าใช้จ่าย และยอดรับบริจาค งานไถ่ชีวิตโค-กระบือ ปี 2553

รวมยอดบริจาค 2 บัญชี ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2553 = 514,715 บาท

รายจ่าย

1. โรงฆ่าสัตว์ นายอดุลย์ สริมสายันต์ 081-369-3755
ควาย 3 ตัว (ตัวผู้ 1 ตัว ตัวเมีย 2 ตัว) วัว 3 ตัว (ตัวเมีย 3 ตัว)
ราคา 78,000 บาท (วันที่ 6 กรกฎาคม 53) อ. ศรีสงคราม

2. โรงฆ่าสัตว์ นายโง่น อ. ศรีสงคราม
ควาย 1 ตัว วัว 1 ตัว ราคา 27,000 บาท (วันที่ 6 กรกฎาคม 53)
โรงฆ่าสัตว์ นายโง่น (วันที่ 16 มิถุนายน 53) วันดังกล่าวเป็นการไปประชุมร่วมกับโรงเรียนที่ต้องการคืนควาย 25 ตัว และไปตรวจเยี่ยม แต่บังเอิญผ่านโรงฆ่าสัตว์เห็น 2 แม่ลูกรอเข้าที่เชือดเลยซื้อไว้)
ควาย แม่ลูก 1 คู่ ราคา 17,000 บาท

3. จากคอกนายธำรงค์ นาวนาง (วันที่ 6 กรกฎาคม 53) 337 หมู่ 7 ต. ศรีสงคราม อ.ศรีสงคราม 082-224-2612
ควาย จำนวน 13 ตัว ราคา 150,000 บาท

4. วัวพันธ์บรามันส์ ที่กิ่งอำเภอ ลำสนธื อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ดาบตำรวจ จิระพันธ์ คนมิดามี เป็นผู้ประสานงาน
081-926-8969 วัว แม่ลูก รวม 2 ตัว เป็นเงิน 19,100 บาท

5. ค่ารถขนควาย 2 เที่ยว (6 กรกฎาคม 2553) เป็นเงิน 5,000 บาท

6. ค่าสัตวแพย์นำทาง (วันที่ 6 กรกฎาคม 53 และ 13 กรกฎาคม 53) ครั้งละ 2,000 บาท เป็นเงิน 4,000 บาท

7. ค่าขนควาย 16 มิถุนายน 53 (3 คัน) เป็นเงิน 8,500 บาท

8. ค่าเดินทางไปประชุมร่วมกับผู้บริหารโรงเรียนที่ขอคืนวัว-ควายและตรวจเยี่ยม (15 มิถุนายน 53) = 8,900 บาท

9. ค่าเดินทางไปดำเนินการซื้อวัว-ควาย ประจำปี 53 และค่าที่พัก (วันที่ 5 กรกฎาคม 53) = 9,800 บาท

10. ทุนการศึกษา 16 โรงเรียน = 72,000 บาท (ให้เป็นปีสุดท้าย เพราะทุกโรงเรียนจะได้ควายลูกตัวที่ 2 ตอบแทนแล้ว)

11. สนับสนุนคอกควาย โรงเรียนบ้านขว้าง คลีชูชาติ (18 ตัว) = 1,700 บาท

12. มอบ อ.สมานชัย สุวรรณอำไพ เป็นค่าติดต่อประสานงาน และดูแลวัว-ควาย 16 โรงเรียน = 7,000 บาท

13. ค่าพิมพ์ใบประชาสัมพันธ์ ไถ่ชีวิตวัว-ควาย ประจำปี 2553 จำนวน 4,500 ชุด + ค่าส่ง ในและต่างประเทศ
= 4,725 + 7,600 รวมทั้งสิ้น = 12,325 บาท

14. ค่ารายงานผล 2,500 ชุด + ค่าจัดส่ง ไปรษณีย์ ในและต่างประเทศ 2,600 + 7,600 บาท = 10,200 บาท

รวมยอดค่าใช้จ่าย = 445,825 บาท

คงเหลือเงิน = 68,890 บาท

เงินที่เหลือในบัญชี คงซื้อวัว-ควายได้อีก 1 คู่ ส่วนที่เหลือใช้ในการติดตามผล ซึ่งจะต้องเดินทาง 2-3 เดือนครั้ง

พงษ์ชัยทัศน์ (ธวัชชัย) วณิชย์กุล
18/6 ซอยสุขุมวิท 23 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม. 10110
โทร. 02-258-4235 มือถือ 08-1614-9382 โทรสาร. 02-261-1313

- ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอโศก ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 032-2-58355-6
ชื่อบัญชี นายพงษ์ชัยทัศน์ วณิชย์กุล เพื่อกองทุนพระศรีอริยเมตไตรย

- ธนาคารกรุงศรอยุธยา สาขาสุขุมวิท 23 ประเภทบัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 204-1-19819-5
ชื่อบัญชี นายพงษ์ชัยทัศน์ วณิชย์กุล เพื่อกองทุนพระศรีอริยเมตไตรย


3,727






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย