วัดเทพธิดาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร





วัดเทพธิดาราม วรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย
วันตั้งวัด : พ.ศ. 2379
วันรับวิสุงคามสีมา : พ.ศ. 2382


วัดเทพธิดาราม วรวิหาร ( วัดเทพธิดาราม ) ตั้งอยู่ริมถนนมหาไชยใกล้วัดราชนัดดา หันหน้าออกสู่คลองรอบกรุง หรือ กำแพงพระนครด้านทิศตะวันออกในสมัยก่อน

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดเทพธิดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ และสร้างเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒ คำว่า เทพธิดา หมายถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าวิลาส พระราชธิดาองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งมีพระสิริโฉมงดงาม ทรงได้รับใช้เป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่งของพระราชบิดา กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงบริจาคทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมในการก่อสร้างวัดเทพธิดารามด้วย

สิ่งสำคัญในวัดนี้คือ พระปรางค์ทิศทั้งสี่ เป็นฝีมือช่างในสมัยรัชกาลที่ 3 บุษบกที่รองรับพระประธาน ภายในโบสถ์ ที่ประดิษฐ์อย่างสวยงามและที่ผนังพระอุโบสถมีภาพเขียนเป็นรูปพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบอย่างในรัชกาลที่ 3

วัดนี้เคยเป็นที่พำนักของสุนทรภู่กวีเอกแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ระหว่าง พ.ศ. 2383 - 2385 เมื่อคราวบวชเป็นพระภิกษุ ปัจจุบันยังมีกุฏิหลังหนึ่ง เรียกว่า "บ้านกวี" เปิดเป็น พิพิธภัณฑ์

- สิ่งสำคัญคู่วัด -
• พระพุทธเทววิลาศ (หลวงพ่อขาว), กุฎิสุนทรภู่ •


{ พระอุโบสถ }
พระอุโบสถวัดเทพธิดารามแสดงถึงการผสมผสานระกว่างศิลปะไทย จีน ตามแบบพระราชนิยมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๑๘ เมตร ยาว ๒๗ เมตร สูง ๑๖ เมตร ฐานสิงห์ หลังคา ๒ ชั้น ๓ ตับ ตับล่างเป็นปีกนกรอบ ตั้งเสาหานรายรับเป็นระเบียงทางเดินรอบพระอุโบสถ หลังคามุงกระเบื้องสีแบบไทย ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันถ่ายทอดศิลปะไทย จีนผ่านเทคนิคปูนปั้นและกระเบื้องเครือบ มีลวดลายไทย เช่น ลายพวงอุบะ ลายดอกไม้ ในตอนบน ผสมกับศิลปะแบบจีนอันมีรูปพญาหงส์คู่ในตอนเดียวกัน และภาพทิวทัศน์ ลายดอกไม้ในตอนล่าง

ภายในพระอุโบสถมี มีภาพเขียนสีฝุ่นดังนี้ ดาวเพดาน คอสองเป็นลายพวงมาลัย ฝาผนังเขียนเป็นลายข้าวพุ่มบิณฑ์ดอกพุดตานเครือเถา มีชุ้มประตู ๔ ซุ้ม ซุ้มหน้าต่าง ๑๐ ซุ้ม แต่ละบานประตูและหน้าต่างด้านนอกเขียนลายรดน้ำ รูปเทวดาในวิมานและกนกลายเพลิง บานหน้าต่างในและบานประตูด้านในเป็นลายโคมจีนและส่วนลึกของประตูหน้าต่างเป็นลายแจกันดอกไม้ ฝาผนังและเสายังมีภาพใส่กรอบเป็นเรื่องราวเกร็ดพงศาวดารจีน ยอดซุ้มปั้นเป็นกนกลายใบเทศและดอกพุดตานแล้วปิดทอง บันได ๔ บันได พนักระเบียงมีกระเบื้องปรุลายดอกประจำยามซ้อนกัน 3 ชั้น ซุ้มเสมาแบบจีนมี ๘ ซุ้ม เสมาเป็นหินเขียวจำหลัก (เสมาใบเดี่ยว)


{ พระพุทธเทววิลาศ (หลวงพ่อขาว) }
พระพุทธปฏิมาประธานในพระอุโบสถ สลักด้วยศิลายวง (ขาว) สีขาวบริสุทธิ์ ปางมารวิชัย หน้าพระเพลากว้าง ๑๕ นิ้ว สูง ๑๙ นิ้ว (หนา ๘ นิ้ว พระอังสา (ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก) ๑๘ นิ้ว) ลักษณะมีพระพักต์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ มีพระศกขมวดก้น มีไรพระศก พระรัศมีรูปเปลวเพลิงซึ่งสามารถถอดออกได้ ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาติเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร บนกลีบดอกบัวหงาย ไม่ทราบประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏแต่เพียงว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้อัญเชิญมาจากพระบรมมหาราชวัง ประดิษฐานอยู่เหนือเวชยันต์บุษบก เดิมเรียกว่า หลวงพ่อขาว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเฉลิมพระนามว่า พระพุทธเทววิลาส


{ พระวิหาร }
คือ อาคารที่ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป คำว่า วิหาร นี้ แต่เดิมหมายถึง “ที่อยู่”โดยไม่จำกัดบุคคลชั้นใด ต่อมาในสมัยพุทธกาล หมายถึง ที่อยู่สำหรับพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวก ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว วิหารได้รับการสร้างขึ้น สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธปฏิมากร” คือ รูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ดังนั้น คำว่า วิหาร ในความเข้าใจ โดยประเพณีนิยม จึงมีความหมายจำเพาะว่า “สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พระวิหารวัดเทพธิดารามแต่เดิมใช้เป็นอาคารเพื่อเก็บรักษาศาสนวัตถุสำคัญ คือพระประธาน และหมู่พระภิกษุณี อริยสาวิกา ซึ่งวัดเทพธิดารามเป็นวัดเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีรูปหล่อพระภิกษุณี อริยสาวิกาและมีจำนวนมากถึง ๕๒ องค์ ในบริเวณพระวิหารยังมีพระวิหารน้อยอีกสองหลัง

ตั้งอยู่ด้านขวาของพระอุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหลังคาซ้อน ๒ ชั้น มี ๓ ตับ กว้าง ๑๓.๐๗ เมตร ยาว ๒๒.๒๐ เมตร สูง ๑๕ เมตร ตับล่างเป็นปีกนกรอบหลังคา ไม่ประดับด้วยเครื่องตกแต่ง เป็นแบบแนวศิลปะผสมผสานไทยจีนเช่นเดียวกับพระอุโบสถ หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลังมีลวดลายเหมือนกันกับพระอุโบสถ ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นปูนปั้นปิดทองลายดอกพุดตาน บานประตูหน้าต่างด้านนอกมีลวดลายประดับ แบ่งเป็น ๒ ส่วน โดยส่วนบนของบานประตูเป็นลายรดน้ำทวารบาล ส่วนของบานหน้าต่างเป็นลายรดน้ำดอกพุดตาน

แต่ส่วนล่างของบานประตูและหน้าต่างเป็นภาพพุทธประวัติ บานประตูหน้าต่างด้านในเป็นลายเขียนสีลวดลาย แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนบนเป็นลายกระถางบัวตั้งอยู่บนโต๊ะ ส่วนกลางเป็นลายแจกันดอกไม้ และส่วนล่างเป็นลายกระถางดอกไม้ ส่วนลึกของประตู หน้าต่างเป็นลายดอกบัว ปลา และนำ เพดานมีลายดาว เพดานบริเวณคอสองเป็นพวงมาลัย ผนังด้านในเขียนลายหงส์จีนบนพื้นสีแดง มีภาพเขียนของ ศ. ธรรมภักดี แขวนใส่กรอบไว้เหนือบานประตูและหน้าต่างเป็นเรื่องพระเวสสันดรทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ฐานพระวิหารเป็นฐานสิงห์เสาเหลี่ยมลบมุม ไม่มีลวดลายที่ปลายเสา พนักระเบียงประดับด้วยกระเบื้องปรุสีเขียว ๒ ชั้น เป็นลายประจำยามและลายดอกไม้ ด้านหน้าพระวิหารมีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ๑๔ องค์ กำแพงรอบพระวิหารประดับด้วยกระเบื้องปรุสีน้ำตาล ๒ ชั้น ลายประจำยาม

ปัจจุบันเปิดให้เข้าชม
ตั้งแต่เวลา ๗.๓๐ น. ถึง ๑๗.๐๐ น.


{ พระประธานในพระวิหาร }
เป็นพระพุทธรูปหล่อ ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๗๕ นิ้ว สูง ๙๕ นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี บนอาสนะที่มีฐานหน้ากระดานแบบฐานสิงห์ มีบัวหงายซ้อนกัน ๕ ชั้น เบื้องหน้าด้านขวา และด้านซ้ายของพระประธาน มีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติอยู่ข้างละ ๑ องค์ ปักฉัตรทองปรุ ๕ ชั้น เช่นเดียวกับในพระอุโบสถ


{ ภิกษุณีในอริยาบทต่างๆ }
เป็นรูปดีบุกปิดทอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อสถาปนาวัดเทพธิดาราม โดยมีลักษณะต่างกันทั้งบนใบหน้าและท่าทางที่แสดงอยู่ มีทั้งที่เจริญกรรมฐานแบบต่างๆ ฟังธรรม และที่แสดงอิริยาบถในชีวิตประจำวัน เช่นการเตรียมและทานหมาก เป็นต้น


{ ศาลาการเปรียญ: }
ศาลาการเปรียญหรือการเปรียญ เป็นอาคารอเนกประสงค์สำหรับพระสงฆ์ใช้เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรม (เปรียญ) และเป็นสถานที่เพื่อประกอบกิจกรรมทางศาสนาสำหรับพุทธศาสนิกชน อาทิ การสดับพระธรรมเทศนา จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา พระองค์เจ้าหญิงวิลาศฯ จะเสด็จมาทางเรือมาทางคลองข้างวัดเทพธิดาราม โดยจะเปลี่ยนเครื่องทรงที่ศาลาไทยด้านข้าง ก่อนสมาทานอุโบสถศีล เวลาทรงสดับพระธรรมเทศนาในศาลาการเปรียญ

ภายในศาลาการเปรียญของวัดประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ไม่ทราบชื่อที่มีมาแต่เดิม และยังเป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูป รวมถึงโบราณวัตถุอื่นๆของวัด ต่อมาศาลาการเปรียญอยู่ในสภาพทรุดโทรมจึงไม่ได้มีการเปิดใช้งาน จวบจนสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ให้การสนับสนุนและบูรณะ ตัวอาคารในปัจจุบันนี้ได้รับการบูรณะเมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๕๖ ปัจจุบันศาลาการเปรียญไม่ได้เปิดให้เข้าชม แต่จะเปิดใช้งานในโครงการปฏิบัตธรรมของทางวัดดังต่อไปนี้

โครงการอยู่กลดหมดทุกข์
ทุกเสาร์แรกของเดือน
สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม
ทุกเย็นวันอาทิตย์เริ่ม 17.00 น.โดยประมาณ
ยกเว้นวันอาทิตย์แรกของเดือน


{ กุฏิสุนทรภู่ }
สุนทรภู่และวัดเทพธิดาราม
ชีวิตของสุนทรภู่ได้บวชถึง ๒ ครั้ง และในครั้งที่ ๒ นี่เอง สุนทรภู่ได้เข้าจำพรรษาที่วัดเทพธิดารามวรวิหาร

ราวปีฉลู พ.ศ. ๒๓๘๔ สุนทรภู่พร้อมบุตรชาย ซึ่งขณะนั้นทั้งคู่เป็นพระภิกษุเดินทางกลับจากการไปหาทาองที่จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ตามที่ปรากฏในโคลงนิราศสุพรรณ ช่วงนี้พระสุนทรภู่ได้รับการอุปการะจากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาศฯ) จึงได้ย้ายมาจำพรรษาณ.วัดเทพธิดาราม ความตอนนี้ปรากฏในรำพันพิลาปดังนี้
“เป็นคราวเคราะห์ต้องพรากจากวิหาร
กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี
ได้ผ้าปีปัจจัยทัยทาน”
การที่ทรงรับอุปการะ คงเนื่องจากทรงอ่านผลงานเรื่องต่างๆ ของสุนทรภู่ที่ตกทอดมาจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระอนุชา ซึ่งเคยให้การอุปการะสุนทรภู่เมื่อครั้งบวชครั้งแรก แล้วโปรดเรื่องพระอภัยมณีมาก จึงได้โปรดให้สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีถวาย เดือนละ ๑ เล่มสมุดไทย ขณะที่จำพรรษาที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่เป็นครูสอนภาษาไทยด้วย จึงได้แต่งหนังสือฝึกอ่านเรื่องพระไชยสุริยา สำหรับให้ศิษย์ได้เล่าเรียน นอกจากนี้คงแต่งเรื่อง สิงหไกรภพต่อ เพื่อถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ อีกเรื่องหนึ่งด้วย ก่อนที่จะลาสิกขาในปีขาล พ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ได้แต่งเรื่อง รำพันพิลาป ซึ่งได้บันทึกเรื่องราว และความรู้สึกส่วนตัวไว้ เป็นลักษณะอัตชีวประวัติ





11,043







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย