ผู้มีปัญญาใช้สิ่งไม่มีสาระทำให้เป็นกุศลขึ้นมา : หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป

 จำปาพร  

พระอาจารย์จันทร์ศรี จันททีโป
วัดโพธิสมภรณ์
อ.เมือง จ.อุดรธานี

...

ฉะนั้นวันนี้พวกเราที่ได้มามองเห็นว่า
การเกิดของเราเกิดมาทุกคนนี้ก็ไม่มีอะไร
คือว่า มาเชื่อฟังคำสอนพระพุทธเจ้าว่า กายของเราที่เกิดมานี้
ก็หาสาระแก่นสารไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย
และเขาไม่ยินดีด้วย รูปร่างกายนี้เขาไม่ยินดี
เพิ่นว่า เป็น “อัพยากตาธรรม” คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นน่ะ

รูปร่างกายของเรา ที่เราสร้างขึ้นมาด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม
สร้างรูปร่างกายขึ้นมานี้ อันนี้เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็มายึดถือ
ให้มันอยู่ในบังคับบัญชา ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย นี่เป็นต้น
แต่มันก็ไปตามสภาพของเขา เรียกว่า “อนัตตา”
คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม นั่นน่ะเป็นสภาวะธาตุชนิดหนึ่ง
เกิดขึ้นอยู่ตั้งไปดับไป ซึ่งไม่อยู่ในบังคับบัญชาของบุคคลผู้ใดทั้งนั้น

รูปร่างกายของเรานี้ทุกคนแม้มันกินดีนอนดีอยู่ดีถึงขนาดไหน
มันก็ไม่ยินดี คือ เราแสนทุกข์แทนยากลำบากตรากตรำ
ในการหาอาหารการกินการอยู่ใช้มาให้มันอยู่มันกินมันใช้
ทนทุกขเวทนา แต่ว่ารูปร่างกายเขาก็ไม่ได้ยินดีเรา
ไม่ยินดีและไม่สงสารด้วย มานึกแล้วก็ ถ้ามานึกเผินๆก็แปลว่า น่าเจ็บใจ
ช่างไม่มีเมตตาเล้ยเพิ่นว่า น่าเจ็บใจหนอล่ะ
ทีเราหาเงินหาทองแสนทุกข์แสนยากหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน
ทนทุกขเวทนาหามาเลี้ยงก้อนกายอันนี้ แต่ว่าเขาก็ไม่ยินดีเราเลย
ไม่ยินดี ไม่ได้พอใจ ไม่ได้ยินดี หน้าที่ของเขาต้องแก่
ต้องเจ็บต้องตายไปเรื่อย เนี่ยเป็นอย่างเนี่ย

จึงว่า พระพุทธเจ้าผู้มีปัญญาหรือว่าพวกที่มีปัญญา
ก็นำรูปร่างกายนี้ล่ะมาสร้างบุญสร้างกุศลให้เป็นสาระแก่นสารขึ้น
ดังที่คำที่ยกเบื้องต้นนั้นว่า กาโย ภิกฺขเว อสาโร สารํว กาตพฺโพ ติ
ดูก่อนท่านทั้งหลายหรือภิกษุทั้งหลาย รูปร่างกายนี้หาสาระแก่นสารมิได้
เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามสภาพของเขา
ไม่ใช่สมบัติของเราสักอย่าง อย่างนี้เป็นต้น
ฉะนั้นผู้มีปัญญาก็นำรูปร่างกายนี้แหละมาสร้างให้เป็นสาระแก่นสารขึ้น
เช่น นำรูปร่างกายของเรามาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งกรรมฐานภาวนา
อานาปานสติลมเข้าพุทโธ ลมออกพุทโธ เป็นหนึ่งเนี่ย
อันนี้แปลว่า “ผู้มีกุสลาธมฺมา” หรือว่า “ผู้สวดกุสลาธมฺมา”

อันนี้ส่วนวัตถุธาตุต่างๆ คือ ข้าวของเงินทอง
ก็เป็นสมบัติประจำอยู่ในโลกดังที่เรารู้กัน ไม่ใช่ของใครสักคน
เป็นเครื่องใช้อยู่ในโลก ชั่วครู่ชั่วคราว
หากผู้มีปัญญาก็นำอันนั้นมาเป็นสิ่งที่เป็นสาระแก่นสารขึ้น
เช่น นำวัตถุโภคทรัพย์นั้นมาสร้างบุญสร้างกุศล
เช่น นำโภคทรัพย์นั้นมาสร้างถนนหนทาง ขุดน้ำบ่อ ก่อศาลา
สร้างวัดวาศาสนา สร้างโบสถ์ สร้างศาลา อย่างนี้เป็นต้น
อันนี้ก็แปลว่า ผู้มีปัญญา ทำสิ่งโภคทรัพย์นั้นก็หาสาระแก่นสารไม่ได้
สุดท้ายโภคทรัพย์นั้นมันก็แปรไปตามสภาพ เปรียบเหมือนตัวอย่างเช่นว่า
ธนบัตรนั่นน่ะ ธนบัตรน่ะผลัดกันใช้ คนนั้นเอามาใช้ คนนี้เอามาใช้
สุดท้ายก็เหงื่อมันถูก ขาดฯ สุดท้ายก็เป็นดิน เงินเพิ่นว่า.."สมมติ"
ธนบัตรก็ธาตุดินนั่นแหละ เอามาสมมติใช้ ก็ไม่ใช่ของใคร
อยู่ได้คนนั้นก็ไปใช้กันไป ผลัดกันไปผลัดกันมา สุดท้ายก็ดำเข้ามันก็ขาด
สุดท้ายก็ไปเผาทิ้ง หรือเป็นเปื่อยเป็นดินลงไปซะ ก็ไม่มีอะไร
นี่โภคทรัพย์ก็ธาตุดินนั่นแหละ ผู้มีปัญญาก็นำมาให้เป็นประโยชน์
อย่างที่พวกเราทั้งหลายได้มีปัญญาพากันทำขึ้น

...

ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "คุณธรรมเทวดา"

5,616







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย