การบำเพ็ญฌาน : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

 จำปาพร  

พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

...

อย่างเช่น ปฐมฌานอย่างนี้นะที่พระศาสดาทรงแสดงไว้
"ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้ คือ "วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา" นั่นแหละ
วิตก คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เราจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์บัดนี้ นี่นะ
เช่นอย่างว่า เราจะเพ่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ นี่ได้ชื่อว่าเป็น "วิตก" แล้ว
พอวิตกแล้วก็วิจาร พอจับลมหายใจเข้าออกแล้วก็วิจาร วิจารดูว่า
ชีวิตนี้มีอยู่แค่ลมหายใจเข้าออกนี้ล่ะ ถ้าลมหายใจเข้าออกนี้หยุดลงแปลว่า ตาย
นี่คำว่า "วิจาร" นะ นั่นแหละ ก็มองเห็นได้เลยว่า อายุของคนเรา
มีอยู่แค่ลมหายใจเข้าออกเท่านี้เป็นเครื่องหมายว่ายังมีชิวิตอยู่
ถ้าวิจารดูชีวิตนี้มีน้อยนิดเดียวนี่

บัดนี้มาคำนึงถึงความดีของตนมีอะไรบ้างที่จะเป็นที่พึ่งที่อุ่นใจ
เมื่อมาพิจารณาดูอย่างว่า ผู้ที่ครองเรือนอย่างนี้ เออ ทานตนก็ได้ให้
ศีลตนก็ได้รักษามา ไม่ได้ทำบาป อย่างนี้นะ แล้วก็ได้แสดงความเคารพ
กราบไหว้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่
ได้สั่งสมบุญกุศลอยู่ พอมองเห็นว่าตนนั้นมีคุณความดีอยู่ในใจ มีบุญมีกุศล
ได้สั่งสมอบรมให้เกิดมีขึ้นในใจอยู่อย่างนี้ มันก็เกิด "ปีติ" ขึ้นในบุญกุศลนั้น
ในความดีของตนนะ เห็นตนบริสุทธิ์อยู่ ไม่มีบาปมีโทษอย่างนี้นะ
เห็นผลแห่งทาน คุณแห่งทานว่ามีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นจริงอย่างนี้
มันก็เกิดปีติขึ้นนะ เมื่อมันเกิดปีติขึ้นอย่างนั้นก็กระทำความรู้เท่าปีติ
อย่าไปส่งเสริมปีติเอาจนว่าจิตฟุ้งซ่านไปอย่างนั้น ก็มีสติประคองจิตไว้
อย่าให้มันเกิดความยินดีอย่างรุนแรงนะ ความยินดีในบุญในกุศลก็ดี
ถ้ามันยินดีเกินขอบเขต มันก็จะจิตฟุ้งซ่านไปอีกแหละ จะไม่สงบอีกเหมือนกันน่ะ

ดังนั้นเมื่อมีปีติเกิดขึ้นแล้วก็มีสติสัมปชัญญะประคองจิต ประคองปีติอันนั้นไว้
ไม่ให้มันเกินขอบเขตแล้วบัดนี้ ไปไปปีติมันก็สงบลงบัดนี้
เมื่อปีติสงบลงเกิดความสุขความเย็นใจขึ้นมาล่ะบัดนี้
อิ่ม..อารมณ์ต่างๆไม่ปรารถนาจะคิดไปทางไหนแล้ว เพราะว่าใจมันสบายแล้วนี่
ใจมันเอิบอิ่มอยู่ด้วยบุญด้วยคุณแล้วนี่ เป็นอย่างนั้น
เมื่อเพ่งความสุขอันนั้นอยู่ก็เห็นว่าความสุขอันนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันน่ะ
มันเกิดขึ้นมีขึ้นได้อย่างนี้มันก็มีเสื่อมไปได้เหมือนกันน่ะ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นสุข
อิ่มเอิบใจอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่ใช่ ต้องเพ่งความสุขอันนั้นอยู่อย่างนั้น
ไปๆมาๆความสุขอันนั้นมันระงับลงบัดนี้ จิตมันก็เป็น "เอกัคคตา" แล้วบัดนี้
ความรู้สึกก็เปลี่ยนไปจากไอ้ความที่ว่ามีความสุขหรือความที่ว่าปีติอันนั้นก็ระงับไปบัดนี้
จิตใจก็เป็นหนึ่งอยู่เฉยๆล่ะบัดนี้ นี่ท่านเรียกว่า เอกัคคตา นั่น..

ผลสุดท้ายการฝึกจิตตามแนวปฐมฌานอย่างว่านี้มันก็มาลงเป็นเอกัคคตานี่
นี่ๆทำจิตให้เป็นหนึ่ง นั่น..ดังนั้นการที่เราเจริญอานาปานสตินี่
มันก็เป็นเรื่องของการบำเพ็ญปฐมฌานนั่นเองแหละ
แต่เมื่อเรามีอุบายแยบคายเป็นนะ อย่างที่ว่ามานี้แหละ
ให้พึงพากันสันนิษฐานเอาไว้

วิตกก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานก็คือ ยกจิตขึ้นรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง
วิจารก็คือวิจารถึงชีวิตเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยลมหายใจเข้าออก
ถ้าลมหายใจหยุดลงไปเมื่อใดก็ตาย เนี่ยท่านเรียกว่าวิจารให้มันถูกทางน่ะ
วิจารในพระกรรมฐานนั่นแหละ ไม่ใช่วิจารออกนอก ไปนอกเรื่อง
อันนั้นวิจารไปข้างนอกไม่ถูก ต้องให้วิจารอยู่แต่ในห่วงของกรรมฐานนี้เท่านั้น
จิตใจนี้มันจึงจะรวมเป็นเอกัคคตาลงได้ในตอนสุดท้ายนะ

มันไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากยากเข็ญอะไรนักหนา แต่ขอให้มีศรัทธาก็แล้วกันนะ
ขอให้มีความเชื่อมั่นในใจเลยว่า การที่เราฝึกฝนจิตโดยถูกทางอย่างนี้
มันจะมีผลดีต่อตนเอง กิเลสตัณหาอันหยาบช้าลามกต่างๆ
มันจะน้อยเบาบางออกไปจากจิตใจเรื่อยๆเมื่อเรามาฝึกจิตใจลงไป
จนว่าใจเป็นเอกัคคตา เป็นหนึ่งลงไปได้อย่างนี้นะ
มันก็จะอยู่ได้นานแหละการทำจิตให้เป็นเอกัคคตาลงอย่างนั้น
เพราะว่า มันเป็นผู้มีศีลมาก่อนแล้ว ศีลเป็นเครื่องขจัดบาปอกุศล
ให้ระงับไปจากจิตใจมาแล้ว ดังนั้นเมื่อใจรวมลงเป็นหนึ่งเอกัคตา
มันก็ไม่มีบาปอกุศลอะไรมารบกวนจิตใจน่ะ เพราะฉะนั้นจิตนี้
มันจึงค่อยสงบอยู่ได้นาน เมื่อจิตสงบเป็นเอกัคคตาอยู่ได้อย่างนั้น
หากว่าเมื่อบำเพ็ญฌานขึ้นที่สองต่อไป ท่านว่ามีแต่วิจารอย่างเดียว วิตกไม่มี
ก็หมายความว่า มันชำนาญแล้วนี่ อย่างว่าเราจะเพ่งลมหายใจเข้าออกนี่เป็นกรรมฐาน
อย่างนี้นะ พอนั่งสมาธิเข้าไปก็เพ่งลมหายใจเลย ไม่ได้นึกเลยว่า
เราจะเอาอะไรมาเป็นกรรมฐานหนออย่างนี้ ไม่ได้วิตกละ
ก็เพ่งลมหายใจเข้าออกเอาเลย เมื่ออธิษฐานจิตดังกล่าวมาแล้วนั้นน่ะ
วิจารไปในที่สุดก็ลงสู่เอกัคคตาของเก่านั่นแหละ นั่น ผลสุดท้ายใน "จตุตถฌานทั้งสี่"

"จตุตถฌานที่สี่" นั้นมีเอกัคคตากับอุเบกขาเท่านั้น เข้าสมาธิไปแล้ว
จิตเป็นเอกัคคตาแล้ว เพ่งเอกัคคตานั้นเข้าไปมากๆเข้าไปแล้ว
ในที่สุดจิตก็เป็นอุเบกขาลงไปเลยบัดนี้ จิตเฉยลงไป มันละเอียดมากในขั้นนั้นนะ
จนว่าลมหายใจไม่ปรากฏเลย แต่เพียงแค่ได้ปฐมฌานนี่ก็ยังดีแล้วนะ ก็ยังดีน่ะ
เพราะฉะนั้นน่ะ พยายามบำเพ็ญไป อย่าไปนึกว่ามันเหลือวิสัย

ถ้าพูดถึงเรื่อง "ฌาน" แล้วกลัวกันก็มีบางคนน่ะ โห เรานี่ไม่มีวาสนาหรอก
อย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเราตีความหมายคำว่า "ฌาน" ได้แล้ว
มันไม่เห็นเป็นเรื่องลำบากอะไรนะ ฌานัง แปลว่า ความเพ่ง อย่างนี้แหละ
คำว่า "เข้าฌาน" เข้าฌาน ที่ท่านกล่าวไว้หมู่นั้น
ก็หมายความว่า "ตั้งสติเพ่งอารมณ์เข้าไป" เพ่งลมหายใจเข้าหายใจออกนี้
เข้าไปเรื่อยๆ "สติ" ก็หยั่งลงไปน่ะดังที่แนะนำมาตอนต้นนั่นแหละ
หยั่งลงไปจนถึงสติมันหยั่งเข้าถึงจิตได้แล้วมันก็เป็นอุเบกขา มันเป็นเอกัคคตาลงได้
เมื่อจิตไม่คิดแล้วมันจะเป็นอะไร มันก็เป็นหนึ่งเท่านั้นแหละ
จิตนี้นะเมื่อมันคิดแล้วมันก็เป็นสองเป็นสามไป เออ มันเป็นอย่างนั้น
เหตุนั้นจึงว่าพยายามให้จิตมันหยุดคิดนี้นะ ให้เข้าใจความหมายเอาอย่างรวบรัดอย่างนี้


...


ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ "วิธีเพ่งจิต"

5,591







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย