การปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ คือให้เริ่มจากสิ่งที่หยาบและง่ายก่อน แล้วค่อยๆ อดทนพัฒนาไปสู่สิ่งที่ละเอียดและยากขึ้น
หลักเบื้องต้นที่ดีในการปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ คือให้เริ่มจากสิ่งที่หยาบและง่ายก่อน แล้วค่อยๆ อดทนพัฒนาไปสู่สิ่งที่ละเอียดและยากขึ้น หลักการนี้ใช้ได้กับการปล่อยวางตัวตนเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างของสถานการณ์ที่ความรู้สึกว่ามีตัวตนมักจะปรากฏชัดเจน คือ ยามที่คนพูดถึงรูปร่างหน้าตาเราในแง่ลบและยามถูกใส่ร้ายป้ายสี พึงสังเกตว่าจิตตอบสนองต่อเรื่องเหล่านี้อย่างไร เราจะตั้งสติได้ตั้งแต่แรกว่าการยึดมั่นในตัวตนเกิดขึ้นอย่างไรและเรารู้สึกเช่นไร
เราจะเห็นว่าตัวตนนี้ไม่ได้มีอยู่ในสถานการณ์ แต่เป็นสิ่งที่เราคิดปรุงแต่งขึ้นต่างหาก ความรู้ตัวนี้สามารถพัฒนาให้ละเอียดยิ่งขึ้น จนในที่สุด เราจะรับรู้ได้เมื่อจิตหวั่นไหวแม้เพียงน้อยนิด
อาตมาใช้คำว่า ‘ความรู้สึกว่ามีตัวตน’ ในข้างต้นเพื่อหมายถึงวิญญาณความรับรู้ สัญญาความทรงจำมั่นหมายและสังขารที่คิดปรุงแต่งเกี่ยวกับ ‘ตัวเรา’ ’ของเรา’ ซึ่งเกิดขึ้นและดับลงในจิต การเกิด ‘ตัวเรา’ และ ’ของเรา’ นี้คือการเกิดทุกข์นั่นเอง การละความยึดมั่นถือมั่นในกายและจิตว่าเป็น ‘ตัวเรา’ และ ’ของเรา’ จึงเป็นการดับทุกข์
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ