ค้นหาในเว็บไซต์ :

ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ให้มีการกีดกั้นหวงแหนกัน เราก็ไม่ถืออะไรทั้งนั้น...ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นสุดโต่ง กลายเป็นโมหะ


ความหวงแหนกีดกั้น ๕ ประการ นี้มีอะไรบ้าง
๑. ความหวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องที่อยู่ ที่อาศัย ท้องถิ่น ดินแดน จนถึงประเทศ
๒. ความหวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องผลประโยชน์ เรื่องลาภ เรื่องการได้สิ่งเสพบริโภค เป็นต้น
๓. ความหวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องพงศ์เผ่าเหล่ากอ ชาติพันธุ์ วงศ์ตระกูล พวกพ้อง
๔. ความหวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องชนชั้น วรรณะ สีผิว
๕. ความหวงแหนกีดกั้นกัน ในเรื่องวิชาความรู้ หรือวิทยาการและผลสำเร็จทางภูมิธรรมภูมิปัญญา
ปัจจุบันนี้กำลังเข้าสู่ยุคแห่งความหวงแหนกีดกั้นข้อที่ ๕ นี้เต็มที่ เช่นเรื่องสิทธิทางปัญญา หรือสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา แต่ข้อต้นๆ ปัจจุบันก็มีอยู่ทั้งหมด จึงมี ๕ ข้อ ครบเลย

ถ้ากำจัดความหวงแหนกีดกั้น ๕ อย่างนี้ไม่ได้ มนุษย์ก็ต้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรงต่อไป จะต้องรบรา แย่งชิง กำจัดกันเรื่อยไป พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์ศึกษาพัฒนาตัวเอง จนถึงขั้นที่ว่าถ้าเป็นโสดาบันก็หมดมัจฉริยะทั้ง ๕ อย่าง ไม่มีเหลือเลย การที่พุทธศาสนาพัฒนามนุษย์ก็เพื่อให้ถึงขั้นนี้

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าจะสุดโต่งไปอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเมื่อไม่ให้มีการกีดกั้นหวงแหนกัน เราก็ไม่ถืออะไรทั้งนั้น ไม่ยึดถือเลย เรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย หรือประเทศของเรา ตลอดหมดทั้ง ๕ ข้อไม่ยึดถือ ถ้าทำอย่างนี้ก็เป็นสุดโต่ง กลายเป็นโมหะ ไม่ใช่การทำด้วย ปัญญา แต่กลายเป็นการยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น

การปฏิบัติในเรื่องนี้ ต้องทำโดยรู้เท่าทันความจริงตามเหตุผลว่า ถ้าคนยังขืนยึดถือกันอยู่ ก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ผิด การที่เราตั้งข้อตกลงในเรื่องดินแดน วงศ์ตระกูล เป็นต้น เหล่านี้ขึ้นมา ก็เพื่อให้มนุษย์เรามีหลักมีเกณฑ์ มีกฎกติกาที่จะคุมการอยู่ร่วมสังคมให้อยู่ในขอบเขตและมีขั้นตอนที่ถูกต้อง แล้วเราก็ปฏิบัติไปเพื่อการ
อยู่ร่วมกันด้วยดี วัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้น ก็เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยสันติสุข จุดหมายแท้จริงอยู่ที่นั่น

หนังสือ วิถีสู่สันติภาพ
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

124







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย