พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม


พระ ถ้ามองอย่างพราหมณ์ กลายเป็นเจ้าพิธี แต่จะให้ดี มองอย่างพุทธ คือเป็นผู้ให้ธรรม

...

พระเป็นเจ้าพิธีจริงหรือ? การมองพระเป็นเจ้าพิธี ก็คือการมองพระให้เป็นอย่างพราหมณ์ ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ชาวชมพูทวีปอยู่ในศาสนาพราหมณ์ ต้องทำพิธีบูชายัญมากมายซึ่งถือเป็นหน้าที่ ตั้งแต่บูชายัญย่อยๆ ประจำวัน ที่ทำกันเองในบ้านตามที่พราหมณ์สอนไว้ และบูชายัญใหญ่ๆ ที่ต้องไปหาพราหมณ์ให้ทำพิธีให้ เสร็จแล้วก็ถวายทักษิณา เป็นค่าทำพิธี

เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น พระเที่ยวจาริกไปสั่งสอนธรรมแก่ประชาชน คนเลื่อมใสนำข้าวของมาถวายพระ ก็เรียกว่า
ทักขิณา/ทักษิณา พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายของทักษิณานั้นใหม่ว่า มิใช่เป็นค่าตอบแทนในการทำพิธี แต่เป็นของที่ประชาชนถวายด้วยศรัทธาเชื่อกรรม เพื่ออุดหนุนพระให้มีกำลังที่จะศึกษาคือเล่าเรียนปฏิบัติอย่างที่ว่า แล้วจะได้เที่ยวจาริกนำธรรมไปบอกเล่ากล่าวสอนให้แก่ประชาชน

ที่ว่านั้นก็คือ ภิกษุหรือพระในพระพุทธศาสนานี้ อยู่ในโลก โดยมีบทบาทหน้าที่ในการบอกเล่ากล่าวสอนให้ธรรมแก่ประชาชน เรียกสั้นๆ ว่า "ธรรมทาน" แล้วชาวบ้านจะบำรุงพระให้มีกำลังศึกษาเอาธรรมมาสอนให้แก่ประชาชน ก็ถวายวัตถุปัจจัย เรียกสั้นๆ ว่า "อามิสทาน" ก็เลยเป็นคำคู่ที่แสดงบทบาทหน้าที่ต่อกันระหว่างพระกับชาวบ้าน ว่าชาวบ้านถวายปัจจัย พระให้ธรรม เป็นหลักคู่สำคัญที่ควรรู้กันให้ชัด และปฏิบัติกันให้ตรง

หลักการที่พระกับโยม ทั้งสองฝ่ายอาศัยกัน เกื้อหนุนกันด้วยวัตถุปัจจัย กับการให้ธรรมนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
"อญฺโญญญ-นิสสิตา" (อาศัยซึ่งกันและกัน) เป็นอันว่าบทบาทหน้าที่ของพระก็คือการให้ธรรม สั่งสอนแนะนำ ให้ประชาชนเจริญพัฒนาก้าวไปในการศึกษา พูดสั้นๆ ในแนวของพระโพธิสัตว์ว่าให้เขามีปุญญังและปัญญาที่เจริญพัฒนายิ่งขึ้นไป หรือเป็นคนที่มีคุณภาพนั่นเอง

หนังสือ เมืองไทยจะวิกฤต ถ้าคนไทยมีศรัทธาวิปริต
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ หน้า ๔๓ - ๔๕

3,076







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย