ธรรมชาติสอนแต่คนไม่เรียนรู้


ธรรมชาติสอนแต่คนไม่เรียนรู้

อันธรรมชาติทั้งหลายทั้งดินหิน ก้อนกรวด สอน แสดงความเปลี่ยนแปลง ว่าเป็น อนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนแปลงให้ดูด้วย และส่งเสียงร้องว่าไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง อย่าหลงใหลกันนัก อย่าบ้ากันนัก แต่คนในโลกไม่ได้ยินและยังหลงใหลอยู่ จึงหาความสงบสุขไม่ได้

ยิ่งเรียนก็ยิ่งไม่รู้ การเล่าเรียนในโลกไม่ได้สอนเรื่องการเปลี่ยนแปลง อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เรียนแต่จะสร้างนั่งสร้างนี่ ในระบบการศึกษาของคนในโลกปัจจุบัน เรียนสูงสุดก็ยังไม่ได้ศึกษาเรื่องอนิจจัง อนัตตา ดังนั้น จึงมนุษย์จึงควรศึกษาเรื่องที่ยังขาดอยู่ ที่ไม่เคยเรียน ได้ฟังมาก่อน เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นเรื่อง ความจริงของ ธรรมชาติ เป็นอย่างนั้น

ธรรมชาติ แสดงอาการให้เห็นอยู่คล้ายกับว่ามันก็ตะโกนบอกอยู่ว่าเป็นอย่างงั้น แต่มนุษย์ไม่เห็น ไม่ได้ยินและเข้าใจ ฉะนั้นจึงได้ทำไปในทางตรงกันข้าม อย่างที่เดี๋ยวนี้ทำอย่างกับว่า เป็นนิจจังเป็นของเที่ยงอย่างที่ต้องการ เป็นสุขไม่เป็นทุกข์ เป็นอัตตาได้เป็น ตัวกูของกู ตามที่กูต้องการ มันคิดนึกและรู้สึกแต่อย่างนี้ เพราะไม่ได้เรียนรู้ตามความเป็นจริง ของธรรมชาติอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และนำมาสอน

เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นอย่างไร ชีวิตจิตใจเป็นอย่างไร ตามธรรมชาติ ก็จะปฏิบัติ ผิดต่อสิ่งต่างๆ หมด ยิ่งโต ก็ยิ่งโง่ ยิ่งโต ยิ่งโง่ ยิ่งหลง ก็ ยิ่งทำผิดในสิ่ง ทั้งปวง ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

เมื่อเริ่มเกิดมาเป็นเด็กทารกที่อยู่ในท้องแม่ เด็กจะคิดนึกอะไรไม่ได้ จึงไม่มีกิเลส ไม่มีความทุกข์ ไม่รู้จักความหมายแห่งความทุกข์ และ ไม่รู้จักกิเลส ไม่มีความดี ความผิด ความถูกอะไร จิตจะไม่รู้จักว่าดีว่าชั่ว

จนเมื่อคลอดออกมาแล้ว อวัยวะต่างๆ ใจ เริ่มทำงาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่สามารถคิดนึกให้เป็นกิเลสได้ อายตนะภายนอก ได้แก่ ตาหูจมูกลิ้นกายใจ ทำหน้าที่ของตนได้ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้คิด ไม่รู้จักว่าดีว่าชั่ว แต่เมื่อคลอดมาแล้ว เวลาล่วงมาโตขึ้น อายตนะภายนอกเหล่านี้ก็เริ่ม ทำงานดีขึ้น ตารู้จักของสวย ไม่สวย หูรู้จัก ไพเราะ ไม่ไพเราะ จนจมูกรู้จักสิ่งหอม เหม็น ลิ้นรู้จักรสอร่อย หรือไม่อร่อย ผิวหนังรู้สัมผัสได้ จิตก็รู้สึกได้พอใจและไม่พอใจ

เมื่อผ่านไปหลายวันหลายสัปดาห์สุดท้าย เด็กจึงเริ่มเกิดความคิดนึกที่เป็นกิเลสและเป็นทุกข์ เกิดความรู้สึก พอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ขึ้นมา ผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ และเกิดความรู้สึกแยกแยะ เกิดเป็นความรู้สึก 2 ฝ่าย ที่น่ารักไม่น่ารัก น่ายินดี ไม่น่ายินดี หลงรักในสิ่งน่ารัก หลงเกลียดในสิ่งน่าเกลียด ไม่พอใจ โกรธ กลัว ยิ่งโต ยิ่งโง่ คือ หลงรักหลงเกลียดมากกว่าแต่ก่อน จนโตเป็นหนุ่มสาว ก็ยิ่งมีความรู้สึกเหล่านี้ก็รุนแรงขึ้นตามธรรมชาติ จนเกิดความรุนแรงถึง ความลุ่มหลง รัก เกลียด อาฆาต พยาบาท อิจฉาริษยา หึงหวง เมื่ออายุมากขึ้น ก็จะรู้สึกรุนแรงขึ้น จนถึงขั้นนอนหลับยากขึ้น ๆ จนตายเข้าโลงมันก็จะไม่เคยพบกับจิตที่เกลี้ยง อิสระ สงบ ว่าง เย็น ไม่รัก ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่วิตกกังวลไม่อิจฉา ริษยา ไม่หึงไม่หวง

เราต้องดูให้ดีว่าเราเรียนพุทธศาสนา หรือธรรมะทำไม เพราะเราไม่เคยพบกับจิตที่ว่างเป็นอิสระ ส่วนมากจะพบ แต่จิตที่ตกเป็นทาสของสิ่งที่มากระทบทำให้รัก โกรธ เกลียด กลัว อาลัยอาวรณ์ วิตกกังวลไม่เป็นอิสระ ไม่มีเสรีภาพ

ในที่นี้หมายถึงเสรีภาพภายใน ไม่ใช่เสรีภาพภายนอกที่กล่าวแต่เรื่องสิทธิมนุษยชนของโลก หรือเสรีภาพทางการเมือง เมื่อจิตตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นทำให้ จิตใจมืดมัว เร้าร้อน ด้วยกิเลสอยู่เสมอ ซึ่งเป็นทาสภายใน จนตายเข้าโลง จัดเป็น ปุถุชนคนธรรมดา

แต่ถ้าจะเป็นคนลืมหูลืมตา ตามแบบพระพุทธเจ้าต้องมาศึกษากันใหม่ เดี๋ยวนี้ มันอยู่ในลักษณะตรงกันข้าม หมด มีจิตใจเร่าร้อนด้วยความทุกข์ มีจิตใจมืดมัวด้วยอวิชชา มีจิตใจสกปรกด้วยกิเลส มีจิตใจเป็นทาสเพราะความยึดมั่นถือมั่น ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ ทั้งที่เกิดมาสวยหรือรวยหรืออย่างไรก็ตาม ก็ยังมีจิตใจทิฐิ เร่าร้อน มืดมน เป็นทาสของอารมณ์ ทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ และก็ได้ทะเลาะวิวาทกัน ฆ่าฟันกันเพราะสิ่งเหล่านี้ เพราะหลงว่าจะได้สิ่งเหล่านี้เป็นของตนทั้งหมดทั้งโลก ความโง่ของตน จึงทำให้ปั่นป่วนวิปริตไปหมด

เราก็อยู่ในโลกชนิดนั้น โดยไม่รู้สึกสำนึก หรือคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะพ้นจากโลกชนิดนั้น แต่ถ้าใครต้องการพ้นออกจากโลกชนิดนั้น นั่นแหละก็จะเกิดความต้องการความรู้ของพระพุทธเจ้าจะแสวงหาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาศึกษา มาทำจิตใจเสียใหม่ อย่าให้เลวร้าย เป็นทุกข์ เร่าร้อน และ มืดมัว ถึงขนาดนั้น และเป็นชีวิตที่อิสระและเบาสบาย

พุทธทาสภิกขุ

3,117







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย