ปฐมเทศนา ปฐมสาวกและพระอรหันต์ ๖ องค์แรก

 DhammathaiTeam  

หมวดที่ ๓ - พุทธสาวก และ พุทธบริษัท

"ปฐมเทศนา ปฐมสาวกและพระอรหันต์ ๖ องค์แรก"

พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และประทับเสวย วิมุตติสุข ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธเป็นเวลา ๔๙ วัน จากนั้นพระบรมศาสดาทรงดำเนินสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสีเพื่อทรงแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์อันมี โทฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ พระบรมศาสดาทรงระลึกว่า ปัญจวัคคีย์เป็นผู้มีอุปนิสัยในอันจะตรัสรู้ธรรม ทั้งมีอุปการะแก่ประองค์มาก ได้อุปัฏฐากของประองค์เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา

พระบรมศาสดาใช้เวลา ๑๑ วันเดินทางมาถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในยามเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปัญจวัคคีย์ยังคงเข้าใจว่าพระสมณโคดมเลิกละความเพียรในการบำเพ็ญตบะในทุกรกิริยา คงจะไม่มีโอกาสได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว จึงนัดหมายกันทำเพิกเฉยแสดงอาการไม่เคารพไม่ยินดีในการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า และกล่าวปฏสันถารใช้สำนวนอันเป็นกริยาไม่เคารพ
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า " ดูกร ปัญจวัคคีย์ บัดนี้ ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว มาครั้งนี้หวังจะแสดงธรรมแก่เธอทั้ง ๕ เธอจงตั้งใจสดับและปฏิบัติตามคำของตถาคต ไม่ช้าไม่นานสักเท่าใดก็จะได้ตรัสรู้ตาม"

ปัญจวัคคีย์ไม่เชื่อ กลับคัดค้าน แม้พระบรมศาสดาจะตรัสเตือนซ้ำอีก ปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ กล่าวโต้แย้งถึง ๓ ครั้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเดือนด้วยพระกรุณาให้ปัญจวัคคีย์หวนระลึกถึงความหลังดูว่า
"ดูก่อน ปัญจวัคคีย์ วาจาที่ไม่ควรเชื่อคำใด ตถาคตเคยกล่าวอยู่บ้างหรือ แม้แต่คำว่า ตถาคตได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณนี้ ตถาคตเคยกล่าวกะใคร ที่ไหน แต่กาลก่อน"

ด้วยอานุภาพของพระวาจาจริงของพระองค์ เป็นอัศจรรย์ทำให้ปัญจวัคคีย์ระลึกเห็นตาม พากันแน่ใจว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรู้จริงดังพระวาจา ก็พร้อมกันถวายบังคมพระยุคลบาทด้วยคารวะ ขอประทานอภัยโทษที่แสดงอาการไม่เคารพต่อพระองค์
พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับพักในสำนักปัญจวัคคีย์ ๑ ราตรี ครั้นรุ่งขึ้น วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรก เป็นปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ พระองค์ประกาศ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" คือ "พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป" หรือพระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม

ปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" ว่าด้วยมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง ซึ่งเว้นที่สุด ๒ อย่างและว่าด้วยอริยสัจ ๔ อันมี ทุกข์สมุทัย นิโรธมรรค ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ อันทำให้พระองค์สามารถปฏิญาณว่า ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบอันยอดเยี่ยม) ท่านโกณฑัญญะ หัวหน้าคณะปัญจวัคคีย์ ฟังพระธรรมเทศนานี้แล้ว ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า
"อญญาสิ วต โภ โกณฑญโญ ๆ"
(โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ)

จากนั้นมา คำว่า "อัญญา"จึงมารวมกับชื่อของท่าน ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาปัตติมรรคเป็นพระโสดาบัน และทูลขอบวชเป็นภิกษุในประธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าประทานด้วยพระองค์เองด้วยการเปล่งพระวาจาว่า "ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำให้สุดทุกข์โดยชอบเถิด"

ณ บัดนั้น พระอัญญาโกณทัญญะจึงเป็นปฐมสาวกหรือพระสาวกองค์แรกของพระพุทธเจ้า เป็นพระสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา เป็นอันว่าพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ได้เกิดขึ้นแล้วบริบูรณ์ในกาลแต่บัดนั้น

พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวันทรงสั่งสอนพรรพชิตทั้ง ๔ รูปที่เหลืออยู่นั้นด้วยพระธรรมเทศนาต่าง ๆ ต่อมาท่านวัปปะกับท่านภัททิยะได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมทูลขออุปสมบทพระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปัมปทาให้ และต่อมาท่านมหานามะกับท่านอสัสชิได้ธรรมจักษุ ทูลขออุปสมบท และพระผู้มีประภาคเจ้าทรงประทานเอหิภิขุอุปสัมปทาให้เช่นกัน

ครั้นพระภิกษุปัญจวัคคีย์ตั้งอยู่ในที่พระสาวกและมีอินทรีย์ มีศรัทธา แก่กล้าสมควรสดับธรรมจำเริญวิปัสสนา เพื่อวิมุตติสุขเบื้องสูงแล้ว ครั้นถึงวันแรม ๕ ค้ำ แห่งเดือนสาวนะ คือเดือน ๙ พระบรมศาสดาจึงได้แสดงพระธรรมสั่งสอนพระภิกษุปัญจวัคคีย์ด้วย "อนัตตลักขณสูตร" คือพระ สูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวใช้ตน) เพื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนาแสดงอนัตตลักขณสูตรอยู่ จิตของพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสเทศนานั้นพ้นแล้วจากอาสวะ (กิเลสที่หมักหมมไว้ดองอยู่ในสันดานไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่าง ๆ ) ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์แล้ว คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ กับ พระอริยสาวก ๕ คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ๑ พระวัปปะ ๑ พระภัททิยะ ๑ พระมหานามาะ ๑ พระอัสสชิ ๑ รวม เป็น ๖ ด้วยประการฉะนี้


ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

8,391






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย