วัดหนังเป็นอารามหลวงชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ ณ ฝั่งขวาหรือนัยหนึ่ง ฝั่งเหนือคลองด่าน แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร เลขประจำวัด ๒๐๐ เดิมเป็นวัดราษฎร์ มีสืบมาแต่โบราณ มีนามว่าวัดหนังมาแต่เดิม แม้ได้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงแล้ว ก็มิได้พระราชทานนามใหม่ ประมาณว่าได้ตั้งขึ้นในสมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี กำหนดอย่างต่ำน่าจะเป็นในราชกาลสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) มิฉะนั้น ต้องสูงขึ้นไปกว่านั้น ข้อนี้มีเลข พุทธศักราชจารึกที่ระฆังเป็นสำคัญ ระฆังใบนี้เป็นของเก่ามีมาก่อน แต่วัดได้สถาปนาเป็นอารามหลวง ตามจารึกปรากฏว่า สร้างแต่ พ.ศ. ๒๒๖๐ พระมหาพุทธรักขิตกับหมื่นเพ็ชร์พิจิตรเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยภิกษุสามเณรทายกทายิกา ตลอดจนมีตาเถรเข้ามาเป็นสมาชิกแห่งสมาคมสร้างระฆังนี้ด้วย
คลองด่านในอดีต ถือว่าเป็นคลองที่มีความสำคัญยิ่งต่อจังหวัดธนบุรี เพราะเป็นต้นคลองมหาชัย เชื่อมทางคมนาคมระหว่างจังหวัดต่าง ๆ ในลุ่มน้ำท่าจีนและในลุ่มน้ำแม่กลองกับจังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองนี้ เดิมนั้นลำคลองคงกว้างกว่าในบัดนี้ เรือขนาดใหญ่สัญจรไปมาได้สะดวก สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ ๙ (พระเจ้าท้ายสระ) เสด็จประพาส ท้องทะเล ก็เสด็จผ่านทางคลองด่านหลายครั้ง ตามชายฝั่งคลองปรากฏว่า มีวัดตั้งอยู่เรียงราย ไม่ขาดระยะ บางวัดเคยได้รับราชูปการจากราชสำนักก็มี เช่นวัดไทรตรงข้ามปากคลองบางมด สมเด็จพระสรรเพ็ชญที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักเดิม ทำนองเป็นที่ประทับแต่ครั้งยังเป็นนายเดื่อหรือหลวงสรศักดิ์มาปลูกเป็นหอไตรไว้ นี้แสดงว่าคลองด่าน มีวัดมากมาแต่สมัยพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี และวัดหนังนี้ได้สถาปนาขึ้น เป็นเป็นพระอารามหลวง ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวัดมีสีมาชนิดพัทธสีมา ผูกเฉพาะพระอุโบสถ
วัดนี้เป็นวัดโบราณ ร้างมานาน ๒๐๐ ปีเศษ จึงไม่ทราบว่าเดิมใครเป็นผู้สร้าง กล่าวเฉพาะ ยุคเป็นพระอารามหลวงนี้ สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาใหม่ทั้งพระอาราม มูลเหตุที่ทรงสถาปนาวัดหนังเป็นพระอารามหลวง น่าจักเนื่องด้วย ราชินิกูลสายท่านเพ็ง พระชนนีสมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นชาวสวนวัดหนัง มีนิวาสสถานอยู่ในถิ่นนั้น คำเล่าของหม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ ว่าอยู่ที่บางหว้า
ในการเรียบเรียงประวัดหนังนี้ มีเรื่องน่าเสียดายอยู่หลายประการ เป็นต้นว่าสถาปนาวัดเมื่อไร ไม่มีวันเดือนปีปรากฏ พระประธานในพระอุโบสถเป็นของสร้างสมัยสุโขทัย แต่ที่มาไม่ปรากฏชัด เพราะสมุดรายงานหมายสั่งการประจำวันซึ่งบันทึกเหตุการณ์ประจำแต่ละวัน มีผู้ทำสูญเสียไป นอกจากทำให้สูญเสียเหตุการณ์เป็นเครื่องเชิดชูพระเกียรติสมเด็จพระศรีสุลาลัยแล้ว ยังทำให้ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ สูญเสียไปด้วยมิใช่น้อย
พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูนตามลักษณะศิลปะของยุคนั้นโดยแท้ด้วยฝีมือของช่างหลวง ประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงามอลังการ โดยเป็นชนิดมุขอัด ๕ ห้อง เฉลียงรอบมีเสาหารรับ พนักระหว่างเสากรุกระเบื้องปรุหลังคามุขลดชั้นหนึ่ง ปีกลดชั้นคอสอง และชั้นเฉลียงรวม ๒ ชั้น มุงกระเบื้องเคลือบ (เปลี่ยนตอนหลัง) ช่อฟ้า หน้าบันประดับกระจก พื้นปูหินอ่อน ประตูด้านหน้า ๒ ด้านหลัง ๒ หน้าต่างด้านละ ๕ ช่อง กรอบประตูหน้าต่าง ปั้นลวดลายประกอบ กรอบเช็ดหน้าปิดทองทึบในบาน ด้านนอก เขียนลายรดน้ำ รูปทรงกระทิน ด้านในลงพื้นฝุ่นน้ำมัน เขียนลายทองประเภทช่อพะเนียง ผนังด้านในเขียนลายทองประเภทดอกไม้ร่วง มีลายคอสอง โดยรอบ เพดานลงชาดโรยดาวทอง ชื่อเขียนลายตาสมุก ปลายขื่อ ๒ ข้างเขียนลายกรวยเชิงทับหลังประตูหน้าต่างประกอบกรอบกระจก ไม้จำหลัก ลายปิดทองหมู่ ๓ เขียนลายห้อนักโก้บันไดขึ้นลงต่อกับชาลาด้านข้างด้านละ ๒ บันได ซุ้มสีมารอบพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ประดิษฐานใบสีมาศิลาจำหลักซุ้มละ ๑ คู่ ชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานเป็นฐานแว่นฟ้า ๒ ชั้น ฐานพระ ๑ ชั้น แบบชุกชีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯแต่ย่อส่วนให้เล็กลงพอเหมาะแก่ขนาดพระอุโบสถก่อย่อไม้๑๒ ปั้น ลายปิดทอง ประดับกระจกชั้นต้นประดิษฐานพระสาวก ๓ องค์ชั้นสอง ๒ องค์
พระวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ ก่อสร้างด้วยศิลปะตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีขนาดทรงจิตรกรรมอย่างเดียวกับพระอุโบสถ ที่ต่างกันคือมีประตูด้านละ ๑ ประตู กับภายในก่อเป็นสายบัวกระเบื้องปรุกั้นกลางเป็น ๒ ห้อง เดินถึงกันไม่ได้ ห้องหน้าก่อชุกชียาวเต็มส่วนกว้าง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยเรียงเป็นแถว ๕ องค์ ส่วนห้องหลังประดิษฐาน พระพุทธรูปศิลา พอกปูนลงรักปิดทองปางมารวิชัย สูงสุดพระรัศมี ๒.๖๔ เมตร ขนาดหน้าตักกว้าง ๒.๑๐เมตรมีพระพุทธรูปขนาดย่อมลงมาอีก ๓ องค์และรูปพระสาวกยืนข้าง ฝ่ายขวา ๑ องค์ เดิมน่าจะมีองค์ฝ่ายซ้ายด้วย แต่คงชำรุดเสียหายแล้วและพระพุทธรูปที่หล่อขึ้นในชั้นหลังแล้วนำเข้ามาประดิษฐานไว้อีกหลายองค์
พระปรางค์แปดเหลี่ยม ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหาร มีพระปรางค์รูปแปดเหลี่ยมองค์หนึ่ง มีลานประทักษิณ ๓ ชั้น เป็นรูปแปดเหลี่ยม ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สามารถมากราบสักการะกันได้โดยบริเวณหน้าพระปรางค์นั้น มีแท่นหินประกอบเป็นรูปเก้าอี้จีนอยู่ ๑ แท่น เรือนไฟหิน ๑ คู่ ตุ๊กตาหินนักรบจีนโบราณ ๑ คู่ โดยของเหล่านี้เป็นของพระราชทานจากรัชกาลที่ ๓ นั่นเอง
อาคารพิพิธภัณฑ์
เดิมเป็นกุฏิที่อยู่อาศัยของพระครูภาวนาภิรัตน์ก่อนที่ท่านจะได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๗ ในพระราชทินนามที่ พระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) ซึ่งท่านได้ใช้กุฏิหลังนี้เป็นสถานที่รักษาผู้คนแบบยาแผนโบราณด้วย หรือเรียกอีกอย่างว่าหมอพระรับรักษาผู้คนทั่วไป ครั้งท่านได้รับตำแหน่งขึ้นเป็นเจ้าอาวาสก็ได้ย้ายไปอยู่ทางฝั่งคณะใต้ของวัดเนื่องจากมีโยมมาสร้างกุฏิหลังใหม่ถวายไว้ข้าวของท่านก็ได้นำไปบางส่วน ทางด้านกุฏิทางนี้ ก็มีลูกศิษย์ของท่าน คือ พระครูวิบูลศีลวัตร (ช้วน ปาสาทิโก) นามสกุลเดิม อ่องสาธร รับดูแลต่อมาและท่านยังให้ความอนุเคราะห์แก่บุคคลทั่วไป ทั้งด้านการรักษาแบบยาแผนโบราณ และวัตถุมงคล ในช่วงปลายอายุของท่าน เนื่องจากความชราของท่าน ทำให้การรับรักษาต้องหยุดลงดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆก็ถูกเก็บลงไว้ที่ห้องเก็บของด้านบนและด้านล่างของกุฏิโดยที่ท่านสั่งห้ามมิให้ใครเข้าไปยุ่งในบริเวณนั้นเลย
ต่อมาหลังจากที่ท่านมรณภาพลงเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ก็ได้มีการจัดทำความสะอาดกุฏิโดยมีพระครูสังฆรักษ์ไพฑูรย์ สุภาทโร (นามสกุลเดิม สรวยโภค) รับการดูแลในการทำความสะอาด ก็พบสิ่งของข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ จำนวนมากจึงได้คิดว่าจะจัดเป็นอาคารอนุสรณ์ของพระสุนทรศีลสมาจาร (ผล คุตฺตจิตฺโต) จึงได้คิดริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์ขึ้น โดยออกแบบตามความคิดของท่านเอง ใช้เวลาจัดวางรูปแบบอยู่ประมาณ ๒ ปี โดยใช้งบส่วนตัวและดำเนินการจัดวางและทำข้อมูลเองทั้งสิ้น ข้าวของที่จัดแสดงนั้น จะเป็นของวัดอยู่ประมาณเกินครึ่งส่วนอื่นที่เหลือก็มีการจัดหาจัดซื้อเข้ามาบ้าง เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอ โดยรูปแบบการนำเสนอมุ่งเน้นความเป็นไทยท้องถิ่นที่มีการทำอาชีพเกษตรกรรมในเมืองธนบุรีคือการทำสวนผลไม้ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และในอีกหลาย ๆ แง่มุม ทั้งความเป็นอยู่ รวมถึงเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมสัมผัสและเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นได้โดยจัดแบ ่งพื้นที่เพื่อใช้จัดแสดงสิ่งของโดยแบ่งตามหมวดหมู่ ตามระบบสากล คือ
๑. ประเภทเครื่องใช้ของพระสงฆ์หรือของที่อุทิศถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เช่น ตู้พระไตรปิฎก ในสมัยต่าง ๆ ตู้พระธรรมที่จัดแสดงอยู่มีหลายประเภท เช่น ตู้ปิดทองทึบ ตู้ลายเขียนสีจีน ตู้ลายรดน้ำ เป็นต้น
๒. สมุดข่อย สมุดไทย ซึ่งมีการเขียนตำรายา ตำรานวดแผนโบราณ สมุดพระมาลัย ที่มีคุณค่าและความสวยงามอย่างยิ่ง พระพุทธรูปในสมัยต่าง ๆ หนังสือธรรมะที่หายาก รวมทั้งคัมภีร์ใบลาน และอื่น ๆ อีกมากมาย เป็นต้น
๓. ประเภทตำรายาและสิ่งของเครื่องใช้โดยจะเน้นให้เห็นถึงวิถีการดำรงชีวิตในอดีตที่ต้องพึ่งพาอาศัย หมอพระ จัดแสดงเครื่องยาตำรายา เครื่องมือปรุงยา โดยเฉพาะตำรายาโบราณจากสมุดข่อย ที่มีความสำคัญต่อการรักษาในสมัยโบราณ
๔. ประเภทของใช้ชาวบ้าน กลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเด่นของพิพิธภัณฑ์ โดยมีการจัดแสดง ครัวไทยโบราณ ในสถานที่จริงยังมีห้องเรือนไทยโบราณที่จัดประกอบกันเข้ายุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เครื่องใช้เครื่องมือจักสาน เครื่องไม้ไผ่ในยุคเก่าของชาวสวนก็มีอยู่ครบ ของเล่นเด็ก โต๊ะนักเรียน รวมถึงตำราเรียนในสมัยก่อนก็ยังมีการรวบรวมมาจัดแสดงไว้เช่นกัน
หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังราชวรวิหาร
พระภาวนาโกศลเถระ (เอี่ยม สุวณฺณสโร) หรือ หลวงปู่เอี่ยม (หลวงปู่เฒ่า) เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดหนังราชวรวิหาร ถือกำเนิดที่บ้านริมคลองบางหว้า ใกล้วัดหนัง เมื่อวันศุกร์แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๗๕ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ บิดาชื่อนายทอง มารดาชื่อนางอู่ เป็นชาวสวนบางขุนเทียน เมื่อหลวงปู่เอี่ยม อายุได้ ๙ ปี บิดามารดาได้ให้เรียนหนังสือในสำนักพระครูธรรมถิดาญาณ (หลวงปู่รอด) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดหนัง ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรและศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดหนัง จนกระทั่งอายุได้ ๑๙ ปี ท่านได้เข้าสอบแปลพระปริยัติธรรมสนามหลวงแต่ท่านสอบไม่ได้จึงลาสิกขาบทกลับไปช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพระยะหนึ่ง
ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๙๗ เมื่อท่านอายุได้๒๒ ปีได้เข้าอุปสมบทที่วัดราชโอรสาราม (วัดจอมทอง) ได้ฉายาว่าสุวณฺณสโร ต่อมาท่านได้ไปอยู่ที่วัดนางนอง และได้ศึกษาด้านวิปัสสนาธุระและพุทธาคมกับหลวงปู่รอดและเมื่อหลวงปู่รอดย้ายไปประจำที่วัดโคนอน ท่านได้ติดตามหลวงปู่รอดไปอยู่ที่วัดโคนอนด้วย เพื่อปรนนิบัติในฐานะที่เป็นพระอาจารย์ของท่าน
ต่อมาเมื่อหลวงปู่รอดมรณภาพแล้ว หลวงปู่เอี่ยมจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโคนอน ต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูศีลคุณธราจารย์แล้วให้อาราธนามาอยู่ที่วัดหนังราชวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ต่อมาล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าหลวงปู่เอี่ยมมีอายุพรรษามาก มีศีลาจริยาวัตรสมบูรณ์ ไม่ด่างพร้อยเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป และทรงเคารพนับถือในส่วนพระองค์เป็นกรณีพิเศษอีกด้วย สมควรจะได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ พระภาวนาโกศลเถระ ในปีพ.ศ. ๒๔๔๒
หลวงปูเอี่ยมได้ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีขาล พ.ศ. ๒๔๖๙ สิริอายุ ๙๔ ปี
เลขที่ 200 ซอยวุฒากาศ 42 ถนนวุฒากาศ แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร 10150 |
โทร. |
พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร |
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย |
เฟซบุ๊ก วัดหนัง ราชวรวิหาร |