วัดชัยพฤกษมาลา เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหารมาตั้งแต่รัชกาลที่ 2 สังกัดมหานิกาย อยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ แขวงตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ เดิมชื่อว่า วัดชัยพฤกษ์ ขึ้นกับตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
วัดชัยพฤกษ์เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตามประวัติวัดระบุว่าวัดชัยพฤกษมาลาสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2300
แต่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์กลายเป็นวัดร้าง เมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่) รื้ออิฐวัดชัยพฤกษ์ไปสร้างกำแพงพระนครส่วนที่พระองค์ทรงเป็นนายด้าน (ควบคุมงาน) (ศรัณย์ ทองปาน 2549)
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดชัยพฤกษ์ขึ้นใหม่เป็นการทดแทน (ผาติกรรม) วัดเดิมที่ถูกรื้อเอาอิฐไปสร้างกำแพงเมือง โดยทรงมีพระราชดำริให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนทรงผนวช เป็นแม่กองดำเนินการสร้างวัดชัยพฤกษ์ (ศรัณย์ ทองปาน 2549?) การก่อสร้างคงค้างมาจนตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดชัยพฤกษ์เข้าในบัญชีพระอารามกฐินหลวงพระราชทาน และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงพระผนวช เสด็จฯ มาทรงจุดเทียนพรรษา และถวายพระกฐินทุกปี (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เป็นแม่ข่ายดำเนินการซ่อมสร้างจนแล้วเสร็จ พร้อมกับพระราชทานสร้อยนามวัดว่า วัดชัยพฤกษมาลา โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่สวนถวายเพิ่มเป็นที่วัด ขุดคูรอบวัด สร้างพระอุโบสถและพระวิหารเดิมให้แล้วเสร็จ สร้างศาลาการเปรียญ ก่อพระเจดีย์ใหญ่พร้อมด้วยพระเจดีย์ทิศ 4 มุม หอสวดมนต์ หอระฆัง สะพานท่าน้ำ (วลัยลักษณ์ ทรงศิริ 2552)
วัดชัยพฤกษมาลาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2514
พระพุทธรูปสำคัญได้แก่ หลวงพ่อโต (พระพุทธชัยพฤกษธิกามหาบพิตร) พระประธานในพระอุโบสถหลังเดิม
สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัด
พระอุโบสถเก่า ตั้งอยู่คู่กับพระวิหาร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยพระวิหารอยู่ทางด้านทิศเหนือ พระอุโบสถอยู่ทางทิศใต้ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ให้สำเร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ปัจจุบัน มีขนาดกว้าง 7.56 เมตร ยาว 19.20 เมตร
เดิมพระอุโบสถหลังนี้อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก โดยเฉพาะเมื่อหลังน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2541-2542 พอถึง พ.ศ.2550 จึงดีดตัวอาคารขึ้นทั้งหลัง ขึ้นเหนือพื้นดินราว 2 เมตร เป็นการป้องกันความชื้นและน้ำที่มักไหลเข้ามาท่วมอยู่เสมอ การดีดอาคารเป็นงานใหญ่มากโดยขุดดินรอบๆ ออกเพื่อเป็นฐานดันตัวอาคารขึ้น จากนั้นจะทำเสาเข็มกลมรองรับและใช้แม่แรงไฮดรอลิกกดลงไปในดินจนได้ความลึกในระดับที่ต้องการ ประมาณ 23 เมตร และเทปูนลงไปในเสาเข็มฐานรอบพระอุโบสถ 48 ต้น จากนั้นตัดหัวเข็มออกและเอาแม่แรงมาวางบนหัวเข็มเพื่อดันตัวอาคารขึ้นจากพื้นดินปัจจุบัน 2 เมตร และมีการบูรณะจนปัจจุบันอยู่ในสภาพดี
ด้านหน้าพระอุโบสถมีช่องประตู 3 ช่อง ด้านหลัง 1 ช่อง ช่องหน้าต่างที่ผนังด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ด้านละ 5 ช่อง กรอบประตูหน้าต่างประดับลายปูนปั้นรูปดอกพุดตานใบเทศปิดทอง มีเสานางเรียงรับชายคาด้านข้าง
หน้าบันของพระอุโบสถเป็นลวดลายปูนปั้น หน้าบันประธานเป็นภาคครุฑยุดนาค (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อยู่ท่ามกลางลายพุดตานใบเทศ ส่วนหน้าบันของมุขหน้า-หลัง เป็นพระมหามงกุฎ (พระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) แวดล้อมด้วยลายพุดตานใบเทศเช่นกัน
พระวิหาร มีขนาดและแผนผังใกล้เคียงกับพระอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระประจำวันให้คนเข้าไปสักการะได้ ลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน (เฉพาะส่วนที่ยังหลงเหลือ) เป็นแบบเดียวกับพระอุโบสถ คือหน้าบันของมุขเป็นภาพพระมหามงกุฎ พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 4 ส่วนหน้าบันหลักเป็นครุฑยุดนาค พระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 2 ที่ผนังด้านทิศตะวันตกยังปรากฏร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังเดิมของพระวิหาร เขียนเป็นลายประจำยามรักร้อย ด้วยสีแดงและสีเขียวบนพื้นสีเหลือง อยู่ในสภาพรางเลือน
พระเจดีย์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระอุโบสถหลังเก่าและพระวิหาร สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าเพิ่มลดาวัลย์ปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ.2378 ต่อมาเจดีย์องค์นี้เป็นที่บรรจุอัฐิของราชสกุลลดาวัลย์ รวมทั้งยังเชื่อกันว่ามีพระบรมอัฐิ (บางส่วน) ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานอยู่ด้วย ลักษณะของเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมขนาดใหญ่ มีเจดีย์บริวาร 4 มุม พระเจดีย์ยังมีสัญลักษณ์ของต้นชัยพฤกษ์ปรากฏอยู่ด้วย
พระอุโบสถหลังใหม่ หันหน้าไปทางทิศเหนือสู่คลองมหาสวัสดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2516 แล้วเสร็จใน พ.ศ.2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาเป็นองค์ประธานทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าและเททองหล่อพระประธานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2521
พระอุโบสถหลังใหม่สร้างขึ้นในตำแหน่งเดียวกับศาลาการเปรียญเก่าที่ได้รื้อออกแล้ว ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 34.5 เมตร ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของกลุ่มอาคารเก่า ไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเหมือนพระอุโบสถหลังเก่า
หน้าบันพระอุโบสถชั้นบนมีปูนปั้น เป็นรูปครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 2 และที่มุขลดของหน้าบันมีปูนปั้นเป็นรูปพระมหามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 4
![]() |
26 ถนน ชัยพฤกษ์ แขวง ตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 |
โทร. 02 424 1702 |
พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร |
สังกัดคณะสงฆ์ : มหานิกาย |
วัดชัยพฤกษมาลา ราชวรวิหาร |