องค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆษิตาราม

องค์ที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดระฆังโฆษิตาราม
ทรงดำรงตำแหน่ง พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๓๖
ในรัชกาลที่ ๑ รวมเป็นเวลา ๑๑ ปี
พระนามเดิม ศรี
พระฉายา ไม่ปรากฏหลักฐาน
นามสกุล -
พระชนก ไม่ปรากฏหลักฐาน
พระชนนี ไม่ปรากฏหลักฐาน
ประสูติ ไม่ปรากฏหลักฐาน
ทรงอุปสมบท ณ วัดพนัญเชิง ตำบลคลองสวนพลู อำเภอกรุงเก่า(อำเภอพระนครศรี อยุธยาในปัจจุบัน) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. ๒๓๒๕
สิ้นพระชนม์ พ.ศ. ๒๓๓๖
สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดระฆังโฆษิตาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ ดำรงตำแหน่ง อยู่ ๑๑ พรรษา น่าจะมีพระชนมายุไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา

พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏรายละเอียด พบแต่เพียงว่า เดิมเป็นพระอาจารย์ศรีอยู่ วัดพนัญเชิง เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ได้หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๔ ได้ถูกถอดจากตำแหน่ง เนื่องจากถวายวิสัชนาเรื่อง พระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ วิสัชนานี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงเป็นพระอนุจร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการะบูชา

พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป

งานสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๒ ของราชอาณาจักรไทย กระทำเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑ โดยนำพระไตรปิฎก ที่รวบรวมบรรดาพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานประดิษฐานไว้ ณ หอพระมณเทียรธรรม และสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ไว้ศึกษาทุกพระอารามหลวง เมื่อตอนต้นรัชกาล มาตรวจชำระ โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก

การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา ๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย