ศีล
โดย : พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์

เรื่องที่ ๗ : เจาะลึกศีลข้อที่ ๑ ( ๑ )


"ปาณาติปาตา เวรมณี" เจตนางดเว้นจากการทำลายชีวิตสัตว์ ความมุ่งหมาย การบัญญัติศีลข้อนี้ มุ่งให้มนุษย์มีเมตตากรุณาต่อกัน และ เผื่อแผ่แก่สัตว์ ทั้งปวงด้วย ข้อห้าม โดยตรงคือห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด แต่เมื่อเล็งผลที่มุ่งหมาย คือการปลูก เมตตาในหมู่สัตว์ ผู้รักษาศีลข้อนี้ จะต้องเว้นการกระทำ ๓ อย่างคือ

ก. ฆ่า
ข. ทำร้ายร่างกาย
ค. ทุรกรรม
การกระทำในข้อ ก. ศีลขาด ข้อ ข. และ ข้อ ค. ศีลด่างพร้อย

ก. การฆ่า
หมายถึง การทำลายชีวิตสัตว์ให้ตกล่วงไป คือทำให้ตายคำว่า สัตว์ หมายเอามนุษย์และ เดียรัจฉานทุกชนิด มนุษย์ก็ไม่จำกัดชาติ ไม่จำกัดเพศ ไม่จำกัดวัย ชั้นที่สุด แม้ฆ่าเด็ก ในครรภ์ก็ห้าม

บาปกรรมจากการฆ่า
ในทางศีล การฆ่าสัตว์ทุกชนิด ผิดศีลทั้งนั้น ศีลขาดเท่ากัน แต่ว่าทางบาปกรรม ย่อมลดหลั่นกัน ท่านมีหลักวินิจฉัยบาปได้ ๓ ประการ คือ
๑. สัตว์ที่ถูกฆ่า
ฆ่าคนบาปมากกว่าฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน แม้ในการฆ่าคนนั้น ฆ่าคนมีคุณ เช่นฆ่าพ่อแม่ หรือ ฆ่าคนที่มีคุณแก่คนอื่น ก็บาปมากกว่าฆ่าคนทั่วไปการฆ่าสัตว์เดียรัจฉาน ฆ่าสัตว์มีคุณ ( เช่นฆ่าโค, กระบือ ) ก็บาปมากกว่าฆ่าสัตว์ไม่มีคุณ ดังนี้เป็นต้น

๒. เจตนา
คือเจตนาของผู้ฆ่า ถ้าฆ่าด้วยเจตนามีกิเลสกล้า อำมหิต โหดเหี้ยม เช่น รับจ้าง ฆ่าคน หรือ ฆ่าด้วยความพยาบาทอันร้ายกาจ อย่างนี้บาปมาก ส่วนการฆ่า ด้วย เจตนาที่ยังมีเมตตา เช่น แพทย์ทดลองเพื่อหาวิธีมารักษาพยาบาลคนอื่น สัตว์อื่น หรือฆ่าเพื่อป้องกันตัว หรือพลาด พลั้งทำให้เขาตาย โทษก็เบาลง

๓. ประโยคา
คือวิธีทำการฆ่า ถ้าฆ่าโดยวิธีทรมานให้ลำบาก ให้หวาดเสียว ให้ช้ำใจมาก ก็บาป มาก นอก จากนี้ ยังมีคนบางพวก ถูกโมหะเข้าครอบงำจิต ให้เห็นผิดเป็นชอบ ถือเอาการฆ่า เป็นกีฬา เช่นการยิงนก ตกปลา ล่าสัตว์ สร้างความสนุกเพลิดเพลิน ให้แก่ตนเอง ด้วยสิ่งเหล่านี้ บาง คนถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการโก้เก๋ เป็นคนทันสมัย ดูเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก เพราะเป็น การฆ่าโดยไม่มีเหตุจำเป็นใดๆเลย คือไม่ใช่ฆ่าเพื่อ ป้องกันตัว หรือเพื่อกินเป็นอาหารทั้ง นั้น ฆ่าเล่นสนุกๆเท่านั้นเองเราเอาเลือดเอาเนื้อ เขามากิน เลี้ยงตัวเลี้ยงลูกเมียยังไม่พอ ยังทำ ให้เขาเสียชีวิตสังเวยความสนุก ประเดี๋ยวประด๋าวของเราอีกคิดดูเถอะ สัตว์เหล่านั้น เขาก็ มีลูก มีพ่อ มีแม่ มีเมีย ที่ต้อง ห่วงใย อกเราฉันใด อกเขาก็ฉันนั้นการฆ่าสัตว์นั้น เมื่อทำให้สัตว์ ตายก็เป็นอันศีลขาด แต่ว่าโดยทางบาปกรรม ย่อมหนักเบา ต่างกันตาม วัตถุเจตนา และ ประโยคดังกล่าวมานี้.




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย