๖๙.ปางนาคาวโลก

พระพุทธรูปปางนาคาวโลก วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้าวางไว้ที่พระเพลา(ตัก)ด้านซ้าย พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระองค์ตามปกติ บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยมาข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลงตามปกติ เอี้ยวพระวรกายผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ(อก)

ความเป็นมาของปางนาคาวโลก

วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาแล้ว ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากรุงเวสาลี พร้อมรับสั่งว่า การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา คือ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ เป็นลสงบอกให้ทราบว่าพระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพานแล้ว และทรงทราบด้วยพระญาณว่า แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจเห็นเมืองเวสาลีอีก เพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดเมืองเวสาลีเพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ตั้งมั่นในอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้ เรียกว่า "นาคาวโลก" คือการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่นี้มีผู้สร้างเจดีย์เอาไว้เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"


ที่มา : หนังสือปางพระพุทธรูป หัวข้อธรรมในคำกลอน โดย ระพีพรรณ ใจภักดี

DT0005

DhammathaiTeam

 เปิดอ่านหน้านี้  7864 


  แสดงความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย