นิทานธรรมะ เรื่อง ดีในมดแดง
มดแดงเป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่ง มักทำรังอยู่ตามต้นไม้ โดยใช้ใบไม้มาห่อเป็นรังอยู่อาศัย เวลาถูกรบกวน จะรวมกลุ่มป้องกันตัว โดยปากก็กัดก้นก็ต่อย ปล่อยกรดออกมา ทำให้เกิดอาการระคายเคือง ปวดแสบปวดร้อน วงจรชีวิตและพฤติกรรมของมดแดง ให้ข้อคิดทางธรรมหลายประการ คือ "รวมตัวเป็นหนึ่ง พึ่งเรี่ยวแรงแห่งตน อดทนทำงาน เก่งการเป็นกลุ่ม รุมสู้ศัตรูด้วยกัน แข่งขันหวงไข่หวงรัง ยอมสละทั้งชีวิตเพื่อส่วนรวม และร่วมกันเชิดชูนางพญาผู้นำ" ด้วยเหตุนี้ นักปราชญ์จึงได้ประพันธ์เป็นคำกลอน ดอกสร้อยสุภาษิตสอนใจว่า
o มดเอ๋ยมดแดง
เล็กเล็ก เรี่ยวแรง แข็งขยัน
ใครกล้ำกลาย ทำร้าย ถึงรังมัน
ก็วิ่งพรู กรูกัน มาทันที
สู้ได้ หรือมิได้ ใจสาหัส
ปากกัด ก้นต่อย ไม่ถอยหนี
ถึงรังเรา ใครกล้า มาราวี
ต้องต่อตี ทรหด เหมือนมดเอย.
มนุษย์แม้เป็นสัตว์สังคมชั้นสูง หรือเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ทุกประเภทก็จริง แต่การประพฤติปฏิบัติบางอย่างของมนุษย์บางคน อาจสู้พฤติกรรมของสัตว์บางประเภทไม่ได้ หากนำส่วนดีๆ ที่สัตว์กระทำ เช่น ดีในมดแดงดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตบ้าง ก็คงไม่ก่อให้เกิดผลเสียแต่อย่างใด แต่กลับจะให้ผลดีที่ช่วยสร้างเสริมจิตสำนึกสัตว์สังคม คือ ความสามัคคีแก่หมู่คณะ และความเสียสละเพื่อส่วนรวม ให้สมกับคำว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมชั้นสูง และสัตว์ประเสริฐ นั่นคือ ประเสริฐได้เพราะการพัฒนาด้านพฤติกรรมอย่างแท้จริง