"สัญญาคือความจำ กับสติ" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
.
"สัญญาคือความจำ กับสติ"
" .. "สัญญาคือความจำเป็นอนัตตา" คือไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ปรารถนาให้จำไว้ก็ไม่จำ ปรารถนาให้ลืมก็ไม่ลืม ปรารถนาไม่ให้จำก็จำ ปรารถนาไม่ให้ลืมก็ลืม และ "ความจำที่เป็นสัญญาก็เป็นความจำตรงไปตรงมาทั้งสิ้นทั้งเรื่อง ไม่ประกอบด้วยความรู้เหตุรู้ผล"
ดังนั้น "สัญญาจึงต้องประกอบพร้อมด้วยสติ" เพราะสติเป็นความระลึกได้ที่ประกอบพร้อมด้วยเหตุและผล "สติไม่ได้เป็นความจำแบบสัญญา" ความจำคือสัญญานั้น แม้จะตั้งใจรักษาไว้ก็อาจรักษาไว้ไม่ได้ ต้องลืม "แต่สติความระลึกได้นั้น เมื่อตั้งสติไว้ รู้เรื่องพร้อมกับรู้เหตุรู้ผล" ก็จะมีสติอยู่ได้เหตุการณ์ทั้งหลายที่ประสบพบผ่านแม้นาน
"เมื่อมีสติระลึกได้ ก็จะระลึกได้พร้อมทั้งเหตุทั้งผลทั้งปวง" สัญญาความจำกับสติความระลึกได้มีความแตกต่างกันที่สำคัญอย่างยิ่ง "ในเรื่องเดียวกันสัญญาอาจเป็นคุณ แต่ก็อาจเป็นโทษ ส่วนสติเป็นแต่คุณ ไม่เป็นโทษ" ความพยายามมีสติระลึกรู้จึงเป็นความถูกต้องและเป็นไปได้ยิ่งกว่าพยายามจดจำด้วยสัญญา .. "
"แสงส่องใจ" ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร