หลวงปู่ชอบ ฐานสโม - วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

หลวงปู่มักจะเทศน์เรื่อง ไตรสรณคมน์หรือศีล 5 มากกว่าธรรมข้ออื่น ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นหญ้าปากคอก แต่ท่านว่านี่แหละคือ รากฐานของการบำเพ็ญเพียรภาวนาถ้าไม่มีฐานไม่มีศีลรองรับ ก็ยากจะดำเนินความเพียรได้


ประวัติ : หลวงปู่ชอบ ฐานสโม - วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย
นามเดิม : บ่อ แก้วสุวรรณ

กำเนิด : 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ตรงกับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู

สถานที่เกิด : ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

บิดา : มอ โยมมารดาชื่อ พิลา

อุปสมบท : ณ วัดสร่างโศกซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่าวัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2467 มีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐานสโม"

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
     วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน ต.ผาน้อย อ.วังสะพุง จ.เลย

ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
     พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม มีชาติกำเนินในสกุลแก้วสุวรรณ เดิมชื่อ บ่อ เกิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444 ตรงกับวันพุธขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู ณ บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย

โยมบิดาชื่อ มอ โยมมารดาชื่อ พิลา ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 4 คน เป็นชาย 2 คน เป็นหญิง 2 คน มีชื่อเรียกกันตามลำดับคือ
     1. ตัวท่าน บ่อ แก้วสุวรรณ
     2. น้องสาว ชื่อ พา แก้วสุวรรณ
     3. น้องสาว ชื่อ แดง แก้วสุวรรณ
     4. น้องชายสุดท้อง ชื่อ สิน แก้วสุวรรณ

ทั้งน้องสาวและน้องชาย รวม 3 คนนี้ปัจจุบันถึงแก่กรรมไปตามกาลเวลาหมดแล้ว

โยมบิดามารดาเล่าให้ท่านฟังว่าบรรพบุรุษต้นตระกูลของท่านนั้น เดิมมีถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีอาชีพหลักคือการทำนา แต่โดยที่พื้นที่เป็นภูเขาเป็นส่วนใหญ่การทำนาต้องอาศัยไหล่เขา ยกเดินเป็นขั้นบันไดเป็นชั้นๆ ไปจึงจะปลูกข้าวได้ แม้จะลงแรงทำงานหาเลี้ยงกันอย่างไม่ยอมเหนื่อยต้องทำไร่ตามดอยเพิ่มเติมแต่ก็ไม่ค่อยพอปากพอท้อง โดยเฉพาะบางปีถ้าฝนแห้งแล้ง ข้าวไม่เป็นผล พืชล้มตายก็อดยากแร้นแค้นจึงได้คิดโยกย้ายไปแสวงหาถิ่นทำกินใหม่ ซึ่งจะเป็นที่ราบลุ่มอันไม่เป็นที่ดอยที่เขาเช่นแต่ก่อน

ตระกูลของท่านพากันอพยพหนีความอัตคัดฝืดเคือง มาหภูมิสำเนาใหม่ ผ่านหุบเหวภูเขาสูงของอำเภอด่านซ้าย ผ่านป่าดงพงทึบของภูเรือ ภูฟ้า ภูหลวง ได้มาพบชัยภูมิใหม่เหมาะ คือที่บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง ยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าใกล้หุบห้วย เหมาะแก่การเพาะปลูกจึงช่วยกันหักร้างถางป่าออกเป็นไร่นาสาโท คงยึดอาชีพหลักคือการทำนาเช่นเดิม

ณ ที่บ้านโคกมนนี้เอง ที่เด็กชายบ่อ บุตรชายคนหัวปีของสกุลแก้วสุวรรณได้ถือกิเนิดมาเป็นประดุจพญาช้างเผือกที่มีกำเนิดจากกลางไพรพฤกษ์ ทำให้ชื่อป่าที่เกิดของพญาช้างเผือกนั้นเป็นที่รู้จักขจรขจายไปทั่วสารทิศ...ฉันใด หลวงปู่ก็ทำให้ชื่อ "หมู่บ้านโคกมน" บ้านที่เกิดของท่านเป็นที่รู้จัก เป็นที่จาริกแสวงบุญของบรรดาชาวพุทธทั่วประเทศ ... ฉันนั้น

ชีวิตตอนเป็นเด็กของท่าน นับว่ามีภาระเกินวัยด้วยเกิดมาเป็นบุตรหัวปี ต้องมีหน้าที่ช่วยบิดามารดาทำการงานในเรือกสวนไร่นา พร้อมทั้งต้องทำหน้าที่พี่ใหญ่ดูแลน้องๆ หญิงชายทั้งสามด้วย

บ้านโคกมนในปัจจุบันนี้ แม้ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านจะคุยให้เราฟังว่า มีความเจริญขึ้นกว่าเมื่อเจ็ดสิบปีก่อนอย่างหาที่เปรียบมิได้ แต่ในสายตาของเราชาวกรุงก็ยังเห็นคงสภาพเป็นบ้านป่าชนบทอยู่มาก ดังนั้นหากจะนึกย้อนกลับไปสมัยที่ท่านยังเป็นเด็กเล็กอยู่ ณ ที่นั้น บ้านเกิดของท่านก็คงมีลักษณะเป็นบ้านป่าเขาที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง สมาชิกทุกคนในครอบครัว ต้องช่วยกันตัวเป็นเกลียว โดยไม่เลือกว่าผู้ใหญ่หรือเด็ก ระหว่างที่พวกผู้ใหญ่ต้องไถ หว่านปักกล้า ดำนา เด็กๆ ก็ต้องเลี้ยงควาย คอยส่งข้าวปลาอาหาร เด็กโตหรือลูกหัวปีอย่างท่าน ก็ต้องช่วยในการไถ ปักกล้า ดำนาด้วยขณะเดียวกันก็ต้องคอยดูแลน้องๆ กลับจากทำนา ก็ต้องช่วยกันหาผักหญ้า หน่อหวาย หน่อโจด หน่อบง หน่อไม้ รู้จักว่ายอดอ่อนของต้นไม่ชนิดใดในป่าในท้องนาควรจะนำมาเป็นอาหารได้ เช่น ยอดติ้วใบหมากเหม้า ผ้าดระโดน...

โดยมากเด็กชายบ่อจะพอใจช่วยบิดามารดา ทางด้านเรือกสวนไร่นามากกว่ากล่าวคือ จะช่วยเป็นภาระทางด้านเลี้ยงควาย ไถนา เกี่ยวข้าว หาผักหญ้า แต่ด้านการหาอาหารที่ต้องเกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตผู้อื่น เช่น การจับปู ปลา หากบ เขียด มาเป็นอาหารประจำวันอย่างเด็กอื่นๆ นั้น ท่านไม่เต็มใจจะกระทำเลย ยิ่งการเล่นยิงนก กระรอก กระแต ที่เด็กต่างๆ เห็นเป็นของสนุกสนานนั้น ท่านจะไม่ร่วมวงเล่นด้วยอย่างเด็ดขาดพูดง่ายๆ ท่านไม่มีนิสัยทาง "ปาณาติบาต" มาแต่เด็กนั่นเอง

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา
หลวงปู่มีจิตโน้มน้าวไปสู่ธรรมตั้งแต่ยังเด็กกล่าวคือ เมื่อท่านมีอายุได้ 14 ปี ได้มีพระธุดงค์กรรมฐานองค์หนึ่งจาริกไปปักกลดรุกขมูลอยู่ที่วัดบ้านตระครูแซ ใกล้บ้านท่านพระธุดงคกรรมฐานองค์นั้นมีชื่อว่า พระอาจารย์พา เป็นศิษย์องค์หนึ่งของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านเป็นพระที่มีจริยาวัตรที่นุ่มนวล และเคร่งครัดในธรรมวินัย คนในหมู่บ้านรวมทั้งมารดาและญาติผู้ใหญ่ของหลวงปู่จึงมีความเลื่อมใสศรัทธาพากันไปปรนนิบัติอุปัฏฐาก ถวายกัปปิยะจังหันอยู่มิได้ขาดตัวท่านเองก็พลอยติดตามโยมมารดาไปด้วย ในฐานะที่เป็นเด็กชายแรกรุ่น วัยกำลังใช้กำลังสอย จึงได้รับหน้าที่มอบหมายให้คอยปฏิบัติรับใช้พระ ประเคนของ ล้างบาตรให้พระอาจารย์ทุกวันราวกับว่าพระอาจารย์พาจะตั้งใจไปโปรดเด็กชายน้อย แห่งสกุลแก้วสุวรรณโดยเฉพาะ ท่านจึงปักกลดอยู่ใกล้หมู่บ้านนานพอดู จนกระทั่งเด็กชายน้อยเกิดความรู้สึกสนิทสนมคุ้นเคยกับท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี ท่านสอนให้เด็กชายรู้จักของควรประเคน และไม่ควรประเคน เวลาว่างก็เมตตาสอนหนังสือให้บ้างและอบรมการสวดมนต์ภาวนาให้บ้าง จิตของเด็กชายน้อยจึงโน้มน้าวไปสู่ทางธรรมมากขึ้นทุกทีจนในที่สุดเมื่อพระอาจารย์พาเห็นนิสัยอันสงบเสงี่ยมเรียบร้อย ฝักใฝ่ในทางธรรมของเด็กชายน้อยผู้นี้ "บ่มได้ที่" แสดง "นิสัยวาสนา" แต่ก่อนอย่างเพียงพอแล้ว ท่านก็ออกปากชวนไปบวชด้วย

"บวชกับเราไหม"

เด็กชายน้อยแห่งสกุลแก้วสุวรรณก็ตอบคำเดียว...สั้นๆ อย่างไม่ลังเลเยว่า

"ชอบครับ"

ท่านถามย้ำ "บวชกับเราแน่หรือ" "ชอบครับ" เป็นคำตอบยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านจึงให้ไปขออนุญาติมารดาผู้ปกครองก่อน

เมื่อหลวงปู่ไปขอลามารดา เพื่อจะตามพระอาจารย์ไปออกบวชมารดาทั้งประหลาดใจและตกใจระคนกัน

-- ประหลาดใจ...ที่บุตรชายน้อยมีความคิดอาจหาญ เด็ดเดี่ยว...ใจคอจะทิ้งบ้าน ทิ้งอ้อมอกแม่อันอบอุ่น ทิ้งญาติพี่น้องไปได้หรือ

-- ตกใจ...ที่ในวัยเพียงเท่านี้ บุตรชายน้อยจะต้องจากบ้านเดินทางไปถิ่นทางไกลอันลำบากยากแค้นลำเค็ญ เหมือนคนไร้ญาติขาดมิตร

อย่างไรก็ดีท่านก็ยังพออุ่นใจได้บ้างว่า บุตรชายน้อยของท่านคงจะได้รับความคุ้มครองดูแลจากท่านอาจารย์พาเป็นอย่างดี

แต่ที่จะไม่ให้ห่วงหาอาลัยเลยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งมารดาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ลูกของท่านจะมีความตั้งใจแน่วแน่มั่นคงแค่ไหน จึงถามย้ำแล้วย้ำอีก

"จะบวชไหม"

"จะบวชแน่หรือ"

ทุกครั้ง...ไม่ว่าจะเป็นคำถามจากมารดาก็ดี จากญาติผู้ใหญ่ผู้ทราบเรื่องก็ตกใจ มาช่วยกันซักไซ้ไล่เรียง...ก็ดี ทุกครั้งจะได้รับคำยืนยันอย่างหนักแน่นมั่นคงจากเด็กชายน้อยว่า

"ชอบครับ" ทุกคราวไป

ดังนั้น ในเวลาต่อมา ชื่อ "เด็กชายบ่อ" จึงกลายเป็น "เด็กชายชอบ" ด้วยประการฉะนี้

เมื่อท่านมีอายุอย่างเข้า 19 ปี ท่านพระอาจารย์พาก็จัดการดูแลให้ผ้าขาวศิษย์รัได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบ้านนาแก บ้านากลาง อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู ด้วยเป็นวัดใกล้บ้านกับที่ลุงของท่านผู้เป็นพี่ชายโยมมารดา มีหลักฐานบ้างช่องอยู่อัฐบริขารนั้นโยมมารดาและยายช่วยกันจัดหาให้ด้วยความศรัทธา

ท่านใช้ชีวิตระหว่างเป็นสามเณรอยู่ถึง 4 ปีกว่า โดยท่านอาจารย์พามิได้หวงแหน ให้ศิษย์ศึกษาอบรมอยู่กับท่านแต่ผู้เดียว ท่านได้ให้ศิษย์รักออกไปศึกษาธรรมกับครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อให้มีความรู้แตกฉานกว้างขวางขึ้น หลวงปู่จึงได้มีโอกาสไปกราบเรียนข้อปฏิบัติกับพระอาจารย์องค์อื่นๆ บ้าง เช่น พระอาจารย์สุวรรณ สุจิณฺโณ วัดโยธานิมิต เป็นอาทิ

ครั้นท่านมีอายุครบ 23 ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดสร่างโศกซึ่งปัจจุบันมีชื่อว่าวัดศรีธรรมาราม อำเภอเมืองยโสธร ซึ่งขณะนั้นยังเป็นอำเภอหนึ่งอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ยังมิได้ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร เช่นทุกวันนี้

หลวงปู่บวชเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2467 มีพระครูวิจิตรวิโสธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์แดง เป็นพระกรรมวาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ฐานสโม"

ท่านเมตตาเล่าให้ฟังว่า ท่านมิได้มีนิสัยสนใจทางการศึกษาด้านปริยัติธรรมมากนัก แม้การท่องปาฏิโมกข์นั้น ท่านใช้เวลาเรียนท่องถึง 7 ปี จึงจำได้หมด

"รู้ความ แต่ไม่ได้ท่องจำ" ท่านเล่า

เมื่อกราบเรียนถามว่าเหตุใดหลวงปู่จึงใช้เวลานานนัก ท่านก็ตอบอย่างขันๆ ว่า "นานๆ ท่องเถื่อ (ครั้งหนึ่ง บางทีก็ 2 เดือน ท่องเถื่อหนึ่ง บางทีก็ 3 เดือนท่องเถื่อหนึ่ง"

"ในใจภาวนามากกว่า"

ท่านสารภาพว่า ท่านดื่มด่ำในการภาวนามากท่านใช้คำบริกรรม "พุทโธ" อย่างเดียว มิได้ใช้ "อานาปานสติ" หรือกำหนดลมหายใจ เข้า-ออก ควบคู่กับพุทโธเลย

สิ่งที่ไม่เคยเห็น ก็ได้เห็น

สิ่งที่ไม่เคยรู้ ก็ได้รู้

สิ่งที่เป็นของสาธารณแก่ปุถุชนธรรมดาก็กลับปรากฏขึ้น

เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง..!

ท่านเล่าว่า จิตของท่านรวมลงสู่ความสงบได้โดยง่ายมากและเกิดความรู้พิสดาร การนี้เริ่มปรากฏแก่ท่าน ตั้งแต่ขณะที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่ ท่านสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ที่แปลกลึกลับได้ดีเกินกว่าสายตามนุษย์สามัญจะรู้เห็นได้ ได้ล่วงรู้ความคิดความนึกในจิตใจของผู้อื่น

ไม่ได้นึกอยากเห็น ก็เห็นขึ้นมาเอง

ไม่ได้นึกอยากรู้ ก็รู้ขึ้นมาเอง

รวมทั้งการรู้เห็นสิ่งแปลกๆ เช่น พวกกายทิพย์ คือ เทวบุตร เทวธิดาอินทร์พรหม ยมยักษ์ นาค ครุฑ...หรือ การรู้วาระจิตคนอื่น ที่เขาคิด เขานึกอยู่ในใจก็สามารถได้ยินชัด...

สิ่งเหล่านี้...แรกๆ ท่านก็ทั้งตกใจ ทั้งประหลาดใจ แต่เมื่อเป็นมาระยะหนึ่งได้รู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือภาพนิมิตก็ระงับสติได้ มีสติว่านี่เป็นเรื่องพิสดาร แต่ไม่ควรจะให้ความสนใจมากนัก

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้ว ท่านก็บากบั่นมุ่งมั่นต่อไปในแดนพุทธอาณาจักรอย่างไม่ย่อท้อ

ครูบาอาจารย์ก็ช่วยให้ความมั่นใจว่า เมื่อท่านเป็นผู้มีนิสัยวาสนาทางนี้แล้ว ก็ควรจะเร่งทำความพากความเพียรต่อไป ไม่ควรให้ความสนใจต่อสิ่งที่เป็นเหมือน "แขกภายนอก" เหล่านี้อย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ ผู้เก่งกล้าอะไร ผู้ใดมีวาสนาบารมี สร้างสมอบรมมาอย่างไร ก็จะเป็นไปอย่างนั้น เปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้ หากเรานำเอาเมล็ดมะม่วงมาเพาะ ปลูก ลงดิน รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย บำรุงต้นไม้นั้นไป วันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อให้ผลเป็นมะม่วงจะกลายเป็นมะปรางหรือมะไฟก็หามิใช่ หรือผู้ที่ไม่เคยเพาะเลียงมะม่วง ไม่เคยปลูกมะม่วง แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอให้เกิดต้นมะม่วง มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน

ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรมสร้างสมอบรมมาแต่บรรพชาติ จิตจึงเกรียงไกร มีอานุภาพแต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของผู้กระทำความเพียรภาวนา นักปราชญ์จะไม่มัวหลวงงมงายอยู่กับความรู้ภายนอก อันเป็นโลกียอภิญญา จุดมุ่งหมายปลายทางของปวงปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลสที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเราให้หมดไป สิ้นไป โดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก

หลวงปู่ได้น้อมรับคำสั่งสอนเตือนสติของครูบาอาจารย์ด้วยความเคารพ แม้หมู่พวกเพื่อนๆ จะมีความเกรงใจท่านอยู่มาก แต่ท่านก็มีความเสงี่ยม เจียมตัวอยู่มิได้นึกเห่อเหิมอวดตัดแต่ประการใดระยะแรกๆ ท่านเต็มไปด้วยความระวังตัว ด้วยไม่แน่ใจว่าบางครั้งภาพที่ปรากฏให้ท่านเห็นนั้นจะมีผู้อื่นเห็นเหมือนกับท่านหรือไม่ หากเขาปรากฏให้ท่านเห็นเพียงผู้เดียว การทักทายปราศรัยหรือสนทนาก็อาจทำให้ถูกมองเหมือนเป็นคนบ้าคนประหลาดพูดคุยคนเดียวก็ได้ ท่านจึงเป็นผู้เงียบสงบ ไม่ค่อยพูดคุยสุงสิงกับใครมากนักด้วยได้ใช้ภาษาใจได้อย่างเป็นประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ดีต่อมาท่านก็ชำนาญในการนี้มากขึ้น จนรู้ได้ทันทีว่าเป็นนิมิตหรือไม่ แต่ในขณะเดียวกันนั้นท่านก็คิดหมายมาดว่า ท่านจะต้องเร่งโอกาสความเพียรพยายามต่อไปโดยไม่ประมาท

หลวงปู่บวชแล้วถึง 4 ปี จึงได้มีโอกาสพบ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ...!!!

ความจริง พระอาจารย์พา อาจารย์องค์แรกผู้พาท่านออกดำเนินทางธรรมโดยให้เป็นผ้าขาวน้อยเดินรุกขมูลไปกับท่าน จนกระทั่งเป็นธุระให้ท่านบวชเณร...ก็เป็นศิษย์องค์หนึ่งของท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเคยเคารพเลื่อมใสพระอาจารย์พา อาจารย์ของท่านมากและอดคิดแปลกใจไม่ได้ที่ท่านพระอาจารย์พา เล่าให้ฟังถึงท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่านด้วยความเคารพเทิดทูนอย่างสูงสุด

ท่านว่าพระอาจารย์พาเคร่งครัด ในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พา บอกว่าท่านพระอาจารย์มั่นเคร่งครัดในเรื่องข้อวัตรปฏิบัติมากที่สุด

ท่านว่าพระอาจารย์พา ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมมากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พากล่าวว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่าน ฉลาดรอบรู้ในการเทศนาธรรมได้กว้างขวางพิสดารมากที่สุด

ท่านว่า พระอาจารย์พา อ่านใจคนได้มากอยู่แล้ว

แต่ท่านพระอาจารย์พายืนยันว่า ท่านพระอาจารย์มั่นอาจารย์ของท่าน อ่านใจคนดักใจคนรู้จิตคนได้ทุกเวลา ทุกโอกาสมากที่สุด

ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบซึ่งในสมัยนี้ยากจะพบ "พระ" ผู้เป็น "พระ" อันประเสริฐ ผู้เป็นนาบุญอันเลิศ ยากจะหานาบุญใดมาเทียบได้

ควรที่ผู้สนใจใฝ่ทางธรรมอย่างเธอนี้จะไปกราบกรานขอถวายตัวเป็นศิษย์

ครั้นหลวงปู่ได้ฟังก็อดคิดแปลกใจไม่ได้ว่าในโลกปัจจุบันนี้ยังจะมีบุคคลผู้ประเสริฐเลิศลอยเช่นนี้อยู่อีกหรือ แต่เมื่ออาจารย์ของท่านบอกไว้ ท่านก็จดจำไว้ คอยสำเหนียกฟังข่าวท่านพระอาจารย์มั่นอยู่ตลอดเวลา

และต่อมาเมื่อปรารภกับใคร กิตติศัพท์กิตติคุณของท่าน พระอาจารย์มั่นก็ดูจะเป็นที่เลื่องระบือมากขึ้น ท่านจึงคอยหาโอกาสจะเข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ตลอดเวลา

ระหว่างที่มารดามาถวายจังหันหรือฟังเทศน์ที่วัดก็ดี หรือเมื่อ "พระ" ได้ไปเทศน์โปรดที่บ้านก็ดี หลวงปู่ก็ได้มีโอกาสตอบแทนพระคุณโยมมารดาผู้เป็นบุพการีของท่านเป็นปกติ

พรฺหมาติ มาตาปิตโร ปุพฺพาจริยาติ วุจฺจเร
อาหุเนยฺยา จ ปุตฺตานํ ปชาย อนุกมฺปกา
มารดาบิดา ท่านว่าเป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์
เป็นผู้ควรบูชาของบุตรและเป็นผู้อนุเคราะห์หมู่สัตว์

หลวงปู่ได้ให้ความอนุเคราะห์ท่านผู้เป็นพรหม เป็นครูอาจารย์คนแรก เป็นผู้ควรบูชาของท่านตามควรแก่สมณเพศวิสัย โดยช่วยเทศน์กล่อมเกลาให้จิตของโยมมารดาเพิ่มพูนศรัทธาบารมีในพระพุทธศาสนา แต่แรกโยมมารดาได้มารักษาศีลแปดอยู่ด้วยที่วัดก่อนสุดท้ายครั้นเมื่อศรัทธาปสาทะของท่านเพิ่มพูนมากขึ้น เห็นทางสว่างทางด้านศาสนาโยมมารดาก็ปลงใจสละเพศฆราวาสโกนผมบวชเป็นชี

โยมมารดาของท่านพบความสุขสงบ รู้จักทางภาวนากระทั่งบอกหลวงปู่ไม่ต้องเป็นห่วงท่าน ท่าน "รู้" แล้วให้พระลูกชายธุดงค์เที่ยววิเวกไปได้ตามใจ

ธรรมโอวาท
หลวงปู่มักจะเทศน์เรื่อง ไตรสรณคมน์หรือศีล 5 มากกว่าธรรมข้ออื่น ซึ่งดูเผินๆ เหมือนเป็นหญ้าปากคอก แต่ท่านว่านี่แหละคือ รากฐานของการบำเพ็ญเพียรภาวนาถ้าไม่มีฐานไม่มีศีลรองรับ ก็ยากจะดำเนินความเพียรได้ เพราะ

อาทิ สีลํ ปติฎฺฐา จ กลฺยาณญฺจ มาตฺกํ
ปมุขํ สพฺพธมฺมานํ ตสฺมา สีลํ วิโสธเย
ศีลเป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นมารดาของกัลยาณธรรมทั้งหลาย
เป็นประมุขของธรรมทั่วไป เพราะฉะนั้นความชำระศีลให้บริสุทธิ์

หลวงปู่จะเทศน์ เป็นวลีสั้นๆ ประโยคสั้นๆ แต่ก็เป็นธรรมที่ลึกซึ้ง ถ้าปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ และพิจารณาได้ พิจารณาจริง พิจารณาถูก พิจารณาตรง พิจารณาชอบ
...แน่นอน มรรคผลนั้นคงอยู่แค่เอื้อมนั่นเอง
เทศน์ที่สั้นที่สุด วาง
พิจารณาตน วางตัวเจ้าของ
จิตตะในอิทธิบาท 4 เอาใจใส่
มรณานุสฺสติ
ให้พิจารณาความตาย...
นั่งก็ตาย
นอนก็ตาย
ยืนก็ตาย
เดินก็ตาย

ปัจฉิมบท
     คุณหญิงสุรีพันธุ์ มณีวัต ได้กล่าวไว้ในคำแถลงหนังสือชีวประวัติ พระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2535 ว่า "เราเคยซาบซึ้งแก่ใจมานานแล้วว่าเมตตาของท่านใหญ่หลวงเพียงไร แต่ระห่างการรวบรวมต้นฉบับที่ต้องกราบเรียนซักถาม เพื่อสอบทานรายละเอียดในชีวิตของท่านก็ยิ่งซาบซึ้งเป็นที่ประจักษ์แก่ใจผู้เขียนมากยิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นชีวิตระหว่างวัยเด็ก วัยรุ่น เริ่มบวช เริ่มธุดงค์ประสบการสิ่งลึกลับหลวงปู่ได้เมตตาตอบข้อซัก แม้ริมฝีปากของท่านจะลำบากในการเปล่งเสียงลิ้นของท่านจะลำบากอย่างยิ่งในการเปล่งคำพูด แต่ท่านก็ยิ่งด้วยเมตตาธรรม เมตตาของท่านไม่มีประมาณจริงๆ"

อันเมตตาของหลวงปู่ที่ไม่มีประมาณนั้นได้แผ่ออกสู่ลูกศิษยานุศิษย์ผู้ประพฤติธรรมพวกเราทั้งหลายซึ่งยังเวียนว่าย วกวนอยู่ในโลกใบกลมๆ ใบนี้หากจะรับเมตตาที่หลวงปู่แผ่ออกมาแล้ว พวกเราก็จะต้องปรับเครื่องรับให้ตรงกับเคลื่นที่หลวงปู่แผ่ออกมาเพื่อที่จะรับกันได้ ศิษย์ผู้ปฏิบัติชอบ ตามหลักคำสอนของหลวงปู่ คงจะได้รับความบันดาลใจและความสงบเยือกเย็นและด้วยอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบารมีของพระคุณเจ้าหลวงปู่ชอบ ฐานสโน คงจะดลบันดาลให้ต่างมีความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ทั้งทางโลกและทางธรรม


   ความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย