พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

ประวัติ / พระปุณณมันตานีบุตรเถระ

   ท่านพระปุณณมันตานีบุตร เป็นบุตรพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ ชื่อว่า โทณวัตถุ ไม่ห่างไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ เดิมชื่อ "ปุณณ" เรียกนามตามที่เป็นบตรของนางมันตานีพราหมณี ว่า ปุณณมันตานีบุตร

    ปุณณมาณพเป็นหลานของท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เพราะนางมันตานีพราหมณีผู้เป็นมารดาเป็นน้องสาวของท่าน

    การที่ปุณณมาณพจะได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เพราะอาศัยพระอัญญาโกณฑัญญะผู้เป็นลุง เป็นผู้ชักนำมาให้บวชในเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ ท่านได้ไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์ให้ปุณณมาณพผู้เป็นหลานชายบวชในพระพุทธศาสนา

    ครั้นพระปุณณะบวชแล้วไปอยู่ในประเทศชื่อ ชาติภูมิ บำเพ็ญเพียรไม่นามนัก ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

ท่านพระปุณณะตั้งอยู่ในธรรม ๑๐ อย่าง คือ 
๑. มักน้อย ๒. สันโดษ ๓. ชอบสงัด ๔. ไม่ชอบเกี่ยวข้องด้วยหมู่ ๕. ปรารภความเพียร ๖. บริบูรณ์ด้วยศีล ๗. สมาธิ ๘. ปัญญา ๙. วิมุตติ ๑๐. ความรู้เห็นในวิมุตติ

   แม้เมื่อมีบริษัท ท่านก็สั่งสอนให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการ

    ครั้นต่อมาภิกษุที่เป็นบริษัทของท่านลาไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทูลพรรณนาคุณพระอุปัชฌาย์ของตนว่าตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประการนั้น และสั่งสอนให้บริษัท ตั้งอยู่ในคุณธรรมสิบประกานนั้นด้วย

    ในเวลานั้น ท่านพระสารีบุตรนั่งอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินภิกษุเหล่านั้นทูลพรรณนาคุณของพระปุณณะ มีความประสงค์อยากจะรู้จักและสนทนาด้วย

    เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาเมืองสาวัตถีแล้ว ท่านพระปุณณะมาเฝ้า พอหลีกไปจากที่เฝ้าแล้ว พระสารีบุตรทราบข่าว จึงเข้าไปหาสนทนาปราศรัยกันแล้ว ไต่ถามถึงวิสุทธิ ๗ ประการ ท่านพระปุณณะก็วิสัชนาชักอุปมาอุปมัยเปรียบด้วยรถ ๗ ผลัด ในที่สุดแห่งการปุจฉาวิสัชนาวิสุทธิ ๗ ประการนั้น พระเถระทั้งสองก็อนุโมทนาภาษิตของกันและกัน

   ท่านพระปุณณมันตานีบุตรนั้น อาศัยความที่ตนตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นใดแล้ว สอนผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณธรรมเช่นนั้นด้วย พระบรมศาสดาจึงยกย่องสรรเสริญว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นธรรมกถึก

    ท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่สมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน



   ความคิดเห็น










จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย